Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรยายประสบการณ์ชีวิตของการเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยินของผู้สูงอายุ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพตามแนวคิดปรากฏการณ์วิทยาของ Husserl Phenomenology (Koch, 1995) ผู้เข้าร่วมวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ ผู้สูงอายุที่มีภาวะบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 17 ราย ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ในเขตพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกและการบันทึกเทป นำข้อมูลที่ได้มาถอดความแบบคำต่อคำ วิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีการของ โคไลซีย์ (Colaizzi, 1978 cite in Hollway and Wheeler, 1996)
ผลการศึกษาวิจัยพบว่าประสบการณ์ชีวิตของการเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยินของผู้สูงอายุ สรุปได้ 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1) การรับรู้อาการได้ยินบกพร่อง ได้แก่ การที่ผู้สูงอายุในช่วงแรกจะยังไม่รู้ว่าตนเองมีการได้ยินลดลงหรือผิดปกติ ผ่านไปสักระยะรับรู้จากการสังเกตตนเองและคนรอบข้างทัก ซึ่งอาการไม่ได้ยินที่เกิดขึ้นนั้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
2) ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยิน ได้แก่ การที่ผู้สูงอายุปกปิดไม่ต้องการให้ใครรู้ว่าตนเองมีความบกพร่องทางการได้ยิน อีกทั้งไม่อยากพูดคุยกับใคร รู้สึกเป็นปมด้อย ทำให้สูญเสียความมั่นใจ และรู้สึกเครียดจากการไม่ได้ยิน นอกจากนี้ต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้นในการฟังข้อมูล
3) การแสดงออกของคนรอบข้างต่อผู้สูงอายุที่มีการได้ยินบกพร่อง ได้แก่ ไม่พูดด้วย บางครั้งถูกดุว่า ตะคอก รวมทั้งถูกหัวเราะ มองการไม่ได้ยินของผู้สูงอายุเป็นเรื่องตลก
4) ปรับตัวปรับใจกับการเป็นผู้สูงอายุที่บกพร่องทางการได้ยิน ได้แก่ ผู้สูงอายุต้องปรับตัวกับการใช้เครื่องช่วยฟัง และต้องปรับตัวในการสื่อสารกับผู้อื่น อีกทั้งยังต้องเพิ่มความระมัดระวังอุบัติเหตุในการใช้ชีวิตมากกว่าบุคคลทั่วไป สุดท้ายแล้วผู้สูงอายุต้องยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับภาวะบกพร่องทางการได้ยิน
ผลการวิจัยครั้งนี้ทำให้เข้าใจประสบการณ์ชีวิตของการเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยินของผู้สูงอายุมากขึ้น ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยิน การแสดงออกของคนรอบข้างต่อผู้สูงอายุที่มีการได้ยินบกพร่อง รวมไปถึงการปรับตัวปรับใจกับการเป็นผู้สูงอายุที่บกพร่องทางการได้ยิน ผลการวิจัยนำไปเป็นแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะบกพร่องทางการได้ยิน