Abstract:
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงออกของยีน CASR rs1042636 กับการตอบสนองต่อยาซินาแคลเซทหลังจากได้รับยาซินาแคลเซทเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังชาวไทย วิธีการศึกษา: การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบย้อนหลัง ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เกิดภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงชนิดทุติยภูมิ และเริ่มได้รับยาซินาแคลเซทเป็นเวลา 12 สัปดาห์ วิเคราะห์ความแตกต่างของสัดส่วนผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ระหว่างกลุ่ม AA genotype และ G carrier ด้วยสถิติไคว์สแควร์ และนำปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อการลดลงของระดับพาราไทรอยด์มาร่วมพิจารณาด้วยโดยใช้สถิติถดถอยโลจิสติกส์ รวมถึงวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงออกของยีน CASR rs1042636 กับระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ที่สัปดาห์ที่ 12 หลังได้รับยาซินาแคลเซทโดยสถิติการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุด้วยวิธี สเต็บไวส์ ผลการศึกษา: ผู้ป่วย 138 คน พบความแตกต่างกันของสัดส่วนผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ระหว่างกลุ่ม AA genotype และ G carrier อย่างมีนัยสำคัญ (Chi-square test; p=0.023) เมื่อนำปัจจัยอื่นมาร่วมพิจารณาพบว่า ผู้ป่วยในกลุ่มจีโนไทป์ AA มีโอกาสที่จะมีร้อยละการลดลงของระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์มากกว่าร้อยละ 30 หลังได้รับยาซินาแคลเซท 12 สัปดาห์น้อยกว่ากลุ่มจีโนไทป์อื่น ๆ ร้อยละ 62.2 (OR=0.378; p=0.047) และพบความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงออกของยีน CASR rs1042636 กับระดับฮอร์โมนพาราไทรอยด์ที่สัปดาห์ที่ 12 (β=0.253, p<0.001; R2=0.331) สรุป: พบความสัมพันธ์ระหว่างการแสดงออกของยีน CASR rs1042636 กับการตอบสนองต่อยาซินาแคลเซท โดยกลุ่มจีโนไทป์ AA พบการตอบสนองต่อยาซินาแคลเซทที่น้อยกว่ากลุ่มจีโนไทป์อื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ