Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์การเกิดโรค PCP ปฐมภูมิระหว่างกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับและไม่ได้รับยาป้องกันโรค PCP ปฐมภูมิตามเกณฑ์เมื่อผู้ป่วยเริ่มรักษาด้วยต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูงในช่วงระยะเวลา 48 สัปดาห์ และรายงานอัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาป้องกันโรค PCP ปฐมภูมิ ใช้วิธีการศึกษารูปแบบ retrospective cohort study โดยทำการเก็บข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอกที่เข้ารับการรักษาการติดเชื้อเอชไอวี ณ โรงพยาบาลศิริราช ผลการศึกษา พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 217 ราย มีค่ามัธยฐานของอายุ 39 ปี เป็นเพศชายร้อยละ 63.1 มีค่ามัธยฐานของระดับ CD4+ เริ่มต้น เท่ากับ 83 เซลล์ต่อไมโครลิตร และมีระยะเวลาติดตามประวัติในการรักษาผู้ป่วยรวมทั้งสิ้น 197.35 คน-ปี มีผู้ป่วยได้รับยาป้องกันโรค PCP ปฐมภูมิตามเกณฑ์ จำนวน 104 ราย (ร้อยละ 47.93) ลักษณะทั่วไประหว่างกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับและไม่ได้รับยาป้องกันโรค PCP ปฐมภูมิ มีค่ามัธยฐานของอายุและระดับ CD4+ เริ่มต้น เท่ากับ 41 ปี : 38 ปี และ 48 เซลล์ต่อไมโครลิตร : 133 เซลล์ต่อไมโครลิตร ตามลำดับ พบผู้ป่วย 1 รายในกลุ่มที่ไม่ได้รับยาป้องกันโรคดังกล่าวเป็นโรค PCP ปฐมภูมิ คิดเป็นอุบัติการณ์โดยรวม เท่ากับ 0.51 ต่อ 100 คน-ปี ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบโอกาสการปลอดโรค PCP ปฐมภูมิระหว่างผู้ป่วย 2 กลุ่มด้วยสถิติ Log-rank test เมื่อปรับค่าตามระดับ CD4+ พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P-value = 0.133) และพบผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาป้องกัน PCP ปฐมภูมิ ร้อยละ 10.58 ของกลุ่มที่ได้รับยาป้อง PCP ปฐมภูมิ โดยส่วนใหญ่พบผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงทางผิวหนังและมีอาการข้างเคียงในระดับรุนแรง คือ Stevens-Johnson syndrome เพียง 1 ราย โดยสรุปการศึกษานี้ แม้ว่าจะไม่พบความสัมพันธ์ของการเกิดโรค PCP ปฐมภูมิระหว่างผู้ป่วยที่ได้รับและไม่ได้รับยาป้องกันโรค PCP ปฐมภูมิตามเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบผู้ป่วย 1 รายที่มีระดับ CD4+ ต่ำกว่า 50 เซลล์ต่อไมโครลิตรเกิดโรค PCP ปฐมภูมิ ดังนั้นควรให้ความสำคัญในการพิจารณาให้ยาป้องกันโรค PCP ปฐมภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ที่มีผลตรวจระดับ CD4+ ต่ำกว่า 50 เซลล์ต่อไมโครลิตรเมื่อเริ่มการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง