Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบจำลองทางเภสัชจลนศาสตร์ประชากรของยาทาโครลิมัส ประมาณค่าเฉลี่ยพารามิเตอร์ทางเภสัชจลนศาสตร์ และค้นหาปัจจัยทางคลินิกที่มีอิทธิพลต่อความผันแปรของยาทาโครลิมัสในผู้ป่วยปลูกถ่ายตับตั้งแต่ระยะแรกจนถึง 6 เดือน ภายหลังการปลูกถ่ายตับ การสร้างแบบจำลองทางเภสัชจลนศาสตร์ประชากรดำเนินการโดยวิเคราะห์ระดับยาทาโครลิมัสในเลือดจำนวน 1012 ตัวอย่างจากผู้ป่วยปลูกถ่ายตับจำนวน 50 รายที่ได้รับยาทาโครลิมัสเป็นหนึ่งในสูตรยากดภูมิคุ้มกัน ทำการศึกษาระดับยาทาโครลิมัสในช่วงวันที่ 8 ถึง เดือนที่ 6 ภายหลังปลูกถ่ายตับด้วยโปรแกรม NONMEM และ PDx-POP และค้นหาปัจจัยทางคลินิก โดยทดสอบปัจจัยทางคลินิกจำนวน 13 ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความผันแปรทางเภสัชจลนศาสตร์ของยาทาโครลิมัสในผู้ป่วยปลูกถ่ายตับชาวไทย ผลการวิจัยพบว่า แบบจำลองที่เหมาะสมของยาทาโครลิมัสรูปแบบ oral immediate-release ในผู้ป่วยปลูกถ่ายตับชาวไทยมีลักษณะทางเภสัชจลนศาสตร์แบบหนึ่งห้อง มีการดูดซึมและการกำจัดยาแปรผันตรงกับความเข้มข้นของยา โดยอัตราการกำจัดยา (apparent oral clearance, CL/F) มีค่าเท่ากับ 26.2 ลิตรต่อชั่วโมง (ค่าความผันแปรระหว่างบุคคลของอัตราการกำจัดยาเท่ากับ 40.1 %) และปริมาตรการกระจายยา (apparent volume of distribution) เท่ากับ 890 ลิตร (ค่าความผันแปรระหว่างบุคคลของปริมาตรการกระจายยาเท่ากับ 80.3 %) สมการทางเภสัชจลนศาสตร์ที่ใช้ทำนายค่าอัตราการกำจัดยา (apparent oral clearance; CL/F) ของยาทาโครลิมัส คือ CL/F = 26.2 x (hemoglobin (HB)/11) –0.802 x (total bilirubin (TB)/1.9) –0.096 จากสมการพบว่า เมื่อระดับ HB และ TB เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลทำให้ค่า CL/F ของยาทาโครลิมัสลดลงในช่วงวันที่ 8 ถึงเดือนที่ 6 ภายหลังการปลูกถ่ายตับ ยังไม่พบปัจจัยทางคลินิกที่มีผลนัยสำคัญต่อปริมาตรการกระจายยา (apparent volume of distribution; V/F) ในการศึกษานี้ เภสัชจลนศาสตร์ประชากรของยาทาโครลิมัสในผู้ป่วยปลูกถ่ายตับนี้เป็นการศึกษาครั้งแรกในผู้ป่วยผู้ใหญ่ชาวไทย โดยพบว่าระดับ HB และ TB เป็นปัจจัยทางคลินิกที่มีผลต่ออัตราการกำจัดยาทาโครลิมัส แต่ยังไม่พบปัจจัยทางคลินิกที่ส่งผลต่อปริมาตรการกระจายของทาโครลิมัส ผลการศึกษานี้อาจใช้เป็นแนวทางในการติดตาม และกำหนดขนาดยาทาโครลิมัสที่เหมาะสมในผู้ป่วยชาวไทยที่ได้รับการปลูกถ่ายตับช่วงวันที่ 8 ถึง เดือนที่ 6 ภายหลังการปลูกถ่ายตับ