Abstract:
เพื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับปฏิกิริยาเสมือนการแพ้เฉียบพลันต่อสารทึบรังสีที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบประเภทไม่แตกตัวเป็นประจุ และอุบัติการณ์ของอาการไม่พึงประสงค์แบบล่าช้า การศึกษาจากผลไปหาเหตุแบบเก็บข้อมูลไปข้างหน้า ในผู้ป่วยที่มารับการตรวจด้วยสารทึบรังสีฯ ที่ศูนย์ภาพวินิจฉัย โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างพฤศจิกายน พ.ศ. 2562-มีนาคม พ.ศ. 2563 มีผู้ป่วย 434 ราย เข้าร่วมการศึกษา เป็นกลุ่มควบคุม 347 ราย และกลุ่มศึกษา 87 ราย จากผลการวิเคราะห์ด้วยสถิติวิเคราะห์พหุถดถอยลอจิสติก พบ ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาเสมือนการแพ้เฉียบพลันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุ≤60 ปี (p=0.032), ปริมาณสารทึบรังสีฯ≥100 มิลลิลิตร (p=0.037), อัตราเร็วในการบริหารสารทึบรังสีฯ≥5 มิลลิลิตรต่อวินาที (p=0.022) การที่ไม่เคยได้รับสารทึบรังสีฯ มาก่อน (p=0.036) การที่เคยมีผื่นลมพิษไม่ทราบสาเหตุ (p<0.001) และมีโรคหัวใจเป็นโรคร่วม (p=0.045) พบการเกิดอาการไม่พึงประสงค์แบบล่าช้าร้อยละ 14.1 จากกลุ่มควบคุม ร้อยละ 15.6 และกลุ่มศึกษา ร้อยละ 8 ดังนั้น ในขั้นตอนการคัดกรองความเสี่ยงจากการใช้สารทึบรังสีฯ ก่อนการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ควรประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่พบได้จากการศึกษานี้ ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ควรมีการพิจารณาให้ได้รับสารทึบรังสีฯ ในปริมาณน้อยที่สุดและให้ด้วยอัตราเร็วที่ช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ยังมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูงสุด นอกจากนี้ ควรพิจารณาให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยทุกรายเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์แบบล่าช้า แม้ว่าผู้ป่วยจะเคยเกิดอาการเสมือนการแพ้เฉียบพลันมาก่อนหรือไม่ก็ตาม