Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการแยกและรวมเสียงวรรณยุกต์ รวมทั้งระบบวรรณยุกต์และสัทลักษณะของวรรณยุกต์ในภาษา “ลาว” ที่พูดโดยกลุ่มคน “ลาว” ที่มีบรรพบุรุษอพยพมาจากอาณาจักรล้านช้างตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กลุ่มคนเหล่านี้ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอยู่ในอำเภอพนมสารคาม อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และเพื่อจำแนกภาษาที่เรียกกันกว้าง ๆ ว่า “ลาว” ด้วยเกณฑ์วรรณยุกต์ ต่อจากนั้น จึงศึกษาความสอดคล้องระหว่างชื่อเรียกกลุ่มคนและชื่อเรียกภาษากับผลการจำแนกภาษาด้วยเกณฑ์วรรณยุกต์
เก็บข้อมูลวรรณยุกต์จากผู้บอกภาษา 124 คนใน 50 จุดเก็บข้อมูล เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นรายการคำจำนวน 2 ชุด คือ รายการคำ 102 คำที่ปรับจากรายการคำของ Gedney (1972) สำหรับวิเคราะห์วรรณยุกต์ด้วยการฟัง และรายการคำพยางค์เดียวจำนวน 22 คำที่คัดเลือกจากรายการคำ 102 คำ สำหรับวิเคราะห์สัทลักษณะของวรรณยุกต์ด้วยวิธีทางกลสัทศาสตร์โดยใช้โปรแกรมพราท รุ่น 5.3.17
ผลการศึกษาเป็นไปตามสมมติฐาน นั่นคือ สามารถระบุและจำแนกภาษา “ลาวฉะเชิงเทรา” ด้วยเกณฑ์รูปแบบการแยกและรวมเสียงวรรณยุกต์ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มภาษาลาว และกลุ่มที่ไม่ใช่ภาษาลาว ส่วนสัทลักษณะของวรรณยุกต์สามารถนำมาใช้จำแนกกลุ่มย่อยได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อค้นพบเพิ่มเติมว่ากลุ่มที่ไม่ใช่ภาษาลาวสามารถจำแนกได้เป็นกลุ่มภาษาพวนและกลุ่มภาษาไทเหนือหัวพัน จึงสรุปได้ว่า ภาษา “ลาวฉะเชิงเทรา” แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ภาษากลุ่มลาว มี 4 วิธภาษา ภาษากลุ่มพวน มี 3 วิธภาษา และภาษากลุ่มไทเหนือหัวพัน มี 9 วิธภาษา แต่ละกลุ่มประกอบด้วยวิธภาษา 2 ประเภท คือ วิธภาษาที่วรรณยุกต์มีลักษณะเด่นเฉพาะและวิธภาษาที่วรรณยุกต์มีลักษณะเบี่ยงเบน
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าในบางกรณีชื่อเรียกกลุ่มคนและชื่อเรียกภาษาไม่สอดคล้องกับผลการจำแนกด้วยเกณฑ์วรรณยุกต์ ข้อค้นพบด้วยเกณฑ์วรรณยุกต์สอดคล้องกับลักษณะอื่น ๆ ทางภาษาศาสตร์และข้อมูลทางประวัติศาสตร์การอพยพโยกย้ายของคนลาวจากอาณาจักรล้านช้าง