Abstract:
แนวคิดทางวิมุติวิทยาเรื่องการตื่นรู้อย่างฉับพลันและการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องคือหลักการทางปรัชญาที่สำคัญของโบโจ จินูล แนวคิดดังกล่าวอธิบายว่า การตื่นรู้อย่างฉับพลันหมายถึงความเข้าใจที่มนุษย์มีต่อความหมายที่แท้จริงของจิตเดิมแท้ซึ่งบริสุทธิ์และมีคุณสมบัติแห่งการรับรู้เป็นธรรมชาติพื้นฐาน ส่วนการคิดแยกแยะในเชิงมโนทัศน์นั้นเป็นเพียงการแสดงตัวในโลกปรากฏการณ์ของคุณสมบัติแห่งการรับรู้ของจิตเดิมแท้ การคิดแยกแยะถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ "ปราศจากแก่นสาร" ในแง่นี้การปราศจากแก่นสารของการคิดแยกแยะถูกใช้เป็นรากฐานที่สำคัญในการยืนยันในความถูกต้องแท้จริงของหลักการเรื่องการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องในทัศนะของโบโจ จินูล วิทยานิพนธ์จึงชี้ให้เห็นว่าถึงแม้หลักการทางวิมุติวิทยาของโบโจ จินูล จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปราศจากแก่นสารของการคิดแยกแยะ แต่ในการพิจารณามนุษย์ในบริบทของการดำรงชีวิตอยู่จริงในโลกเชิงประจักษ์กลับทำให้เห็นว่า “ความจริงในเชิงการดำรงอยู่” ของการคิดแยกแยะนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจความหมายของความสัมพันธ์ของหลักการเรื่องการตื่นรู้และการปฏิบัติในทัศนะของโบโจ จินูล เป็นอย่างมาก กล่าวคือถึงแม้ความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้อย่าง”ฉับพลัน” แต่ภายใต้บริบทแห่งชีวิตของปุถุชนการคิดแยกแยะยังคงมีผลอย่างต่อเนื่องต่อการดำรงอยู่ของของมนุษย์และผลดังกล่าวยังคงไม่สามารถดับสิ้นลงได้อย่างฉับพลันภายหลังการตื่นรู้ดังกล่าว การพิจารณาบทบาทของความคิดในมิติที่สัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของชีวิตในโลกเชิงประจักษ์นี้จึงชี้ให้เห็นว่า การคิดแยกแยะในฐานะที่เป็นเนื้อหาของประสบการณ์ของมนุษย์ นั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการเข้าใจความสัมพันธ์ของการตื่นรู้และการปฏิบัติ และเป็นเหตุที่ทำให้โบโจ จินูล ให้ความสำคัญกับความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจการคิดแยกแยะเหล่านี้ในฐานะตัวของมันเองและเพื่อถมช่องว่างระหว่างความเข้าใจกับการปฏิบัติให้สอดคล้องกัน