Abstract:
ภูมิทัศน์ภาษาหมายถึงการศึกษาสถานการณ์ภาษาโดยใช้ข้อความภาษาบนป้ายสาธารณะเป็นข้อมูล งานวิจัยด้านภูมิทัศน์ภาษาในพื้นที่ชายแดนของประเทศไทยยังไม่มีผู้ใดศึกษา ผู้วิจัยเห็นว่าการศึกษาพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญต่อทฤษฎีภูมิทัศน์ภาษา และน่าจะสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพสังคมของชุมชนเขตชายแดนได้เป็นอย่างดี งานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาภูมิทัศน์ภาษาตรงชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 8 จุด คือ มุกดาหารและสะหวันนะเขต ที่ชายแดนไทย-ลาว อรัญประเทศ-ปอยเปต ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ปาดังเบซาร์ สะเดา -ปาดังเบซาร์ ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย และแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ที่ชายแดนไทย-เมียนมา ผู้วิจัยวิเคราะห์การเลือกภาษา รูปแบบของข้อความในป้ายหลายภาษา และปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดลักษณะของภูมิทัศน์ภาษาที่พบ ผลการวิเคราะห์พบว่าพื้นที่ชายแดนทุกแห่งใช้ป้ายหลายภาษามากกว่าป้ายหนึ่งภาษาและใช้ภาษาประจำชาติมากที่สุด รองลงมาคือภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาประเทศเพื่อนบ้านพบมากที่สุดที่แม่สาย ชายแดนไทย-เมียนมา และอรัญประเทศ ชายแดนไทย-กัมพูชา และไม่พบภาษาประเทศเพื่อนบ้านเลยที่ปาดังเบซาร์ สะเดา ชายแดนไทย-มาเลเซีย และสะหวันนะเขต ชายแดน ลาว-ไทย ในด้านรูปแบบข้อความในป้ายหลายภาษาพบ 3 แบบคือ แบบแปลตรงตัวซึ่งพบมากที่สุด รองลงมาคือแบบแปลบางส่วน และแบบอิสระน้อยที่สุด พื้นที่ฝั่งไทยทุกแห่งและชายแดนมาเลเซีย-ไทยใช้รูปแบบการเขียนแบบแปลตรงตัวมากที่สุด พื้นที่ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน 3 แห่ง คือ ลาว เมียนมา และกัมพูชา ใช้รูปแบบแปลบางส่วนมากที่สุด ส่วนแบบอิสระพบมากที่สุดในปอยเปต ชายแดนกัมพูชา-ไทย ในด้านปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดภูมิทัศน์ภาษาในเขตชายแดน สรุปได้ว่า 1) การใช้ภาษาประจำชาติที่เด่นชัดเป็นเพราะทุกประเทศต้องการนำเสนออัตลักษณ์ของชาติผ่านป้ายสาธารณะ 2) การใช้ภาษาอังกฤษในปริมาณมากและสม่ำเสมอเป็นเพราะพื้นที่ชายแดนมีความเป็นโลกาภิวัตน์และนานาชาติ 3) การปรากฏของภาษาเพื่อนบ้านในภูมิทัศน์ภาษา เป็นเพราะความต้องการสื่อสารแบบลู่เข้าหาประเทศเพื่อนบ้าน ข้อค้นพบในงานวิจัยนี้ สนุบสนุนทฤษฎีเงื่อนไขการใช้ภาษาในป้าย หลักโครงสร้างในภูมิทัศน์ภาษา และการปรับตัวในการสื่อสาร นอกจากนั้น ยังชี้บ่งเป็นนัยว่าสถานการณ์ภาษาในประเทศไทยมีการเปิดกว้างให้ใช้ภาษาทุกแบบในป้าย และมีแนวโน้มการลู่เข้าหาผู้อ่านในท้องถิ่น