Abstract:
วาทกรรมแนะนำวิธีการเลี้ยงลูกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้รับการนำเสนอจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางว่าเป็นวิธีการเลี้ยงลูก “ที่ดีเหมาะสม” ในสังคมปัจจุบันและมีการเผยแพร่ไปในวงกว้าง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในวาทกรรมแนะนำวิธีการเลี้ยงลูกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊ก ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 โดยใช้กรอบแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ของแฟร์คลัฟ (Fairclough, 1995) ผลการวิเคราะห์ตัวบทพบว่า วาทกรรมแนะนำวิธีการเลี้ยงลูกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางนำเสนออุดมการณ์ 3 อุดมการณ์ ได้แก่ อุดมการณ์การเลี้ยงลูก “เชิงบวก” อุดมการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว และอุดมการณ์ความรุนแรงในสังคมไทย อุดมการณ์ทั้งสามสอดรับและสัมพันธ์กัน กลวิธีทางภาษาที่สื่ออุดมการณ์มีทั้งสิ้น 35 กลวิธี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) การแสดงความมีหลักวิชาการและเหตุผล มี 14 กลวิธี เช่น การใช้คำศัพท์ทางวิชาการ การใช้คำศัพท์ทางกฎหมาย การใช้ข้อความแสดงเหตุผล 2) การใช้น้ำเสียงที่มีอำนาจ มี 19 กลวิธี เช่น การใช้คำคู่ตรงข้ามที่แสดงการประเมินค่า การใช้คำที่มีผลในการประเมินคุณค่า การใช้คำแสดงผลลัพธ์ และ 3) การใช้วาทกรรมแห่งมิตร มี 2 กลวิธี ได้แก่ การใช้สหบท และการใช้วัจนลีลาเป็นกันเอง กลวิธีทั้งหมดทำให้เห็นว่าวาทกรรมแนะนำวิธีการเลี้ยงลูกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางนำเสนอความคิดของตนเองในด้านบวกและนำเสนอความคิดของผู้อื่นในด้านลบ
ผลการศึกษาวิถีปฏิบัติทางวาทกรรมพบว่า ตัวบทผลิตโดยกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวคิดเรื่องการเลี้ยงลูก “เชิงบวก” และต้องการให้ผู้รับสารนำไปปฏิบัติ ตัวบทเผยแพร่ผ่านพื้นที่เสมือนในสื่อสังคมออนไลน์ เอื้อต่อการผลิตซ้ำและกระจายไปสู่กลุ่มผู้รับสารในวงกว้าง ตัวบทมีการใช้น้ำเสียงจริงจังในเชิงสั่งสอนหรือออกคำสั่งเป็นหลักแต่ผสานวัจนลีลาแบบเป็นกันเองทำให้ตัวบทมีลักษณะเป็นวาทกรรมแห่งมิตร ผู้รับสารตีความได้ว่า วาทกรรมแนะนำวิธีการเลี้ยงลูกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเป็นแหล่งความรู้ที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และสารนั้นถูกถ่ายทอดมาจากความหวังดี ผู้รับสารมีหน้าที่เรียนรู้และนำไปปฏิบัติตาม ตัวบทมีการจัดเรียงระเบียบวาทกรรมที่ซับซ้อน คือ ใช้ “วาทกรรมการอบรมสั่งสอนเรื่องการเลี้ยงลูก” ผสมผสานกับ “วาทกรรมการแพทย์” บ่งชี้ให้เห็นสถานการณ์ทางสังคมที่แพทย์ก้าวล้ำเข้ามาในพื้นที่ของครอบครัว เกิดการเชื่อมโยงระหว่างวิถีปฏิบัติทางสังคมของวาทกรรมครอบครัวเข้ากับวาทกรรมการแพทย์ อุดมการณ์ที่นำเสนอผ่านวาทกรรมจึงมีแนวโน้มว่าน่าจะมีอิทธิพลต่อความคิด การกระทำของกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งก็คือพ่อแม่ในสังคมปัจจุบัน
ผลการศึกษาวิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรมพบว่า สถานการณ์หรือปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับ การผลิตและบริโภคตัวบทเกิดจากปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม 5 ประการ ได้แก่ 1) การรับแนวคิดเรื่องการเลี้ยงลูก “เชิงบวก” จากสังคมตะวันตก 2) แนวทางการเลี้ยงลูกในสังคมไทย 3) สภาพพื้นฐานของสังคมไทย 4) แนวคิดเรื่องปัจเจกนิยม 5) ปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจและความรุนแรงในสังคมไทย ผลทางอุดมการณ์ที่อาจมีต่อผู้รับสารและสังคมไทยมี 4 ประการ ได้แก่ 1) การนำเสนอแนวทางการเลี้ยงลูกที่ “พึงประสงค์” สู่กลุ่มผู้อ่านในสังคมไทย 2) การกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว 3) การประกอบสร้างภาพสมาชิกที่ “พึงประสงค์” ของสังคมไทย 4) การนำเสนอภาพการใช้อำนาจและความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อเด็กเพื่อนำเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกให้แก่พ่อแม่ในสังคมไท
กล่าวโดยสรุป ผลการศึกษานี้เผยให้เห็นว่า กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการประกอบสร้างและสื่ออุดมการณ์การเลี้ยงลูกและเห็นบทบาทของวาทกรรมที่พยายามเข้ามากำหนดความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ผลการศึกษานี้ช่วยสร้างความ “รู้เท่าทัน” วาทกรรมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการตัดสินประเมินค่าว่าการเลี้ยงลูกแบบใดเป็น “เชิงบวก” หรือ “เชิงลบ” นั้นเป็นการมองแบบรวบยอดและแฝงอคติ ที่จริงแล้วแนวทางการเลี้ยงลูกทุกแนวทางน่าจะมีทั้ง “ด้านบวก” และ “ด้านลบ” ในการเลือกแนวทางการเลี้ยงลูกพ่อแม่ควรจะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบด้านเพื่อไม่ให้ถูกครอบงำด้วยการตัดสินเชิงประเมินค่า