Abstract:
กิบส์ (Gibbs, 1994) และโคเวคเซส (KÖvecses, 2002, 2010) กล่าวไว้ว่า ไม่ใช่เพียงแค่ถ้อยคำอุปลักษณ์ที่ใช้ในการสนทนาในชีวิตประจำวันเท่านั้นที่สะท้อนมโนทัศน์ของผู้ใช้ภาษาได้ ถ้อยคำอุปลักษณ์ที่มีลักษณะสร้างสรรค์จากแหล่งอื่นๆ เช่น นวนิยาย บทกวี ก็สามารถสะท้อนมโนอุปลักษณ์ (conceptual metaphor) ของผู้ใช้ภาษาในสังคมได้เช่นกัน
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์มโนอุปลักษณ์เพศชาย เพศหญิง และเพศทางเลือก และวิเคราะห์ทัศนคติเกี่ยวกับเพศชาย เพศหญิง และเพศทางเลือกที่สะท้อนผ่านถ้อยคำอุปลักษณ์ในบทละครโทรทัศน์และเพลงไทยสากล ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ บทละครโทรทัศน์จำนวน 45 เรื่อง และเพลงไทยสากลจำนวน 1,002 เพลงซึ่งเผยแพร่ระหว่างเดือนมกราคม 2558 ถึงเดือนธันวาคม 2560
ผลการวิจัยพบว่า จากจำนวนถ้อยคำอุปลักษณ์ที่พบทั้งสิ้น 5,736 ถ้อยคำ แบ่งเป็นถ้อยคำอุปลักษณ์เพศชาย 2,474 ถ้อยคำ สะท้อนมโนอุปลักษณ์เพศชาย 5 ลำดับแรกที่มีความถี่สูงสุดได้แก่ [เพศชาย คือ สิ่งของในครอบครอง] [เพศชาย คือ สัตว์] [เพศชาย คือ สิ่งสกปรก/ สิ่งปฏิกูล] [เพศชาย คือ สินค้า] [เพศชาย คือ ตัวละคร] ถ้อยคำอุปลักษณ์เพศหญิง 3,078 ถ้อยคำ สะท้อนมโนอุปลักษณ์เพศหญิง 5 ลำดับแรกที่มีความถี่สูงสุดได้แก่ [เพศหญิง คือ สิ่งของในครอบครอง] [เพศหญิง คือ สัตว์] [เพศหญิง คือ สิ่งสกปรก/ สิ่งปฏิกูล] [เพศหญิง คือ อมนุษย์] [เพศหญิง คือ ตัวละคร] และถ้อยคำอุปลักษณ์เพศทางเลือก 184 ถ้อยคำ สะท้อนมโนอุปลักษณ์เพศทางเลือก 5 ลำดับได้แก่ [เพศทางเลือก คือ สัตว์] [เพศทางเลือก คือ สิ่งของในครอบครอง] [เพศทางเลือก คือ อาหาร] [เพศทางเลือก คือ สิ่งสกปรก/ สิ่งปฏิกูล] [เพศทางเลือก คือ อมนุษย์]
ถ้อยคำอุปลักษณ์ในบทละครโทรทัศน์และเพลงไทยสากลสะท้อนมโนอุปลักษณ์เพศชายและเพศหญิงเป็นคู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สามารถสลับบทบาทกันได้เช่น [เพศชาย คือ สัตว์นักล่า] - [เพศหญิง คือ สัตว์ถูกล่า/ เหยื่อ] และ [เพศหญิง คือ สัตว์นักล่า] - [เพศชาย คือ สัตว์ถูกล่า/ เหยื่อ] จึงอาจดูเหมือนทั้งสองเพศมีอำนาจเท่าเทียมกัน แต่ถ้อยคำ อุปลักษณ์ที่แสดงว่าเพศชายเป็นฝ่ายมีอำนาจเหนือพบปริมาณมากกว่าเพศหญิง ในขณะที่ถ้อยคำอุปลักษณ์ที่ประเมินค่า เพศหญิงเป็นเชิงลบพบปริมาณมากกว่าเพศชาย สะท้อนให้เห็นว่าเพศชายยังคงมีอำนาจเหนือกว่าเพศหญิงเช่นเดียวกับงานวิจัยด้านสังคมวิทยา ข้อค้นพบที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสะท้อนผ่านหลักฐานทางภาษาว่าเพศหญิงสามารถเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าเพศชายได้ ส่วนถ้อยคำอุปลักษณ์ที่สะท้อนมโนอุปลักษณ์เพศทางเลือกพบเฉพาะในบทละครโทรทัศน์และมักสะท้อนความเป็นชายขอบหรือเพิ่มระดับการลดคุณค่ามากกว่าเพศชายและเพศหญิง
ผลการวิเคราะห์ทัศนคติที่สะท้อนผ่านมโนอุปลักษณ์เชิงวิพากษ์สรุปได้ว่า แม้จะมีมโนอุปลักษณ์ที่สะท้อนทัศนคติด้านบวกอยู่บ้าง แต่มโนอุปลักษณ์เพศสภาวะที่พบส่วนใหญ่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเพศหรืออำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ ตัวอย่างเช่น เพศชายยังมองเพศหญิงเป็นเพียงสิ่งตอบสนองความต้องการทางกาย (มโนอุปลักษณ์อาหารและ สิ่งด้อยค่า) เพศหญิงถูกเพิ่มค่าหรือลดค่าได้ (มโนอุปลักษณ์สิ่งมีค่า สินค้า สิ่งด้อยค่าและสิ่งไร้ค่า) เพศชายมีอำนาจแต่เพศหญิงไร้อำนาจ (มโนอุปลักษณ์สัตว์นักล่าและสัตว์ถูกล่า) เพศชายเป็นที่พึ่งและเพศหญิงเป็นที่พึ่งพา (มโนอุปลักษณ์พืช) เพศหญิงถูกกดขี่ทางเพศ (มโนอุปลักษณ์สัตว์ป่า) แม้ว่ากลุ่มมโนอุปลักษณ์ที่พบจะพบทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่เมื่อเทียบปริมาณถ้อยคำอุปลักษณ์และทัศนคติจะสะท้อนว่าเพศหญิงเป็นเพศที่ด้อยค่ากว่าเพศชาย ส่วนมโนอุปลักษณ์เพศทางเลือกสะท้อนว่าเพศทางเลือกเป็นเพศที่ด้อยค่ากว่าเพศหญิง อุดมการณ์ที่แฝงอยู่ภายใต้มโนอุปลักษณ์ที่พบในวาทกรรมสาธารณะ มี 3 อุดมการณ์เรียงลำดับจากพบมากไปน้อยได้แก่ อุดมการณ์ปิตาธิปไตย อุดมการณ์สตรีนิยม และอุดมการณ์รักต่างเพศ จากการวิคราะห์อุปลักษณ์แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศหรือความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงมีอยู่ในสังคมไทยและถูกผลิตซ้ำผ่านวาทกรรมสาธารณะ แต่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น