Abstract:
ประเด็นเรื่องผู้เรียนอาชีวศึกษาได้รับการกล่าวถึงในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน เนื่องจากมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและตลาดแรงงานต้องการกำลังคนอาชีวศึกษาจำนวนมาก แต่คนในสังคมส่วนใหญ่มักมีอคติและมองผู้เรียนอาชีวศึกษาในลักษณะเหมารวมในด้านลบ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพตัวแทนผู้เรียนอาชีวศึกษาที่ประกอบสร้างผ่านภาษาในวาทกรรมสื่อมวลชนและวาทกรรมสื่อภาครัฐ ได้แก่ หนังสือพิมพ์รายวัน รายการโทรทัศน์ และข่าวประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ เก็บข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2555-2561 โดยศึกษาตามแนววาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ ผลการวิเคราะห์ตัวบทพบว่า ภาพตัวแทนด้านลบที่ปรากฏในวาทกรรมทั้งสองกลุ่ม ได้แก่ ผู้เรียนอาชีวศึกษาเป็นบุคคลอันตรายที่มีพฤติกรรมเป็นนักเลงอันธพาล ผู้เรียนอาชีวศึกษาเป็นปัญหาสังคมที่ยากจะแก้ไข และผู้เรียนอาชีวศึกษาไม่เกรงกลัวกฎหมาย ภาพตัวแทนด้านบวก ได้แก่ ผู้เรียนอาชีวศึกษามีทักษะฝีมือ ผู้เรียนอาชีวศึกษาสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ผู้เรียนอาชีวศึกษาได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เรียนอาชีวศึกษามีน้ำใจ และผู้เรียนอาชีวศึกษามีความมั่นคงก้าวหน้า ภาพตัวแทนทั้งหมดสื่อผ่านกลวิธีทางภาษา 8 กลวิธี ได้แก่ การเลือกใช้คำศัพท์ การใช้อุปลักษณ์ การใช้สหบท การใช้ทัศนภาวะ การใช้มูลบท การปฏิเสธมูลบท การเชื่อมโยงข้อความบอกความขัดแย้ง และการใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ เมื่อพิจารณาเชิงปริมาณพบว่า ในวาทกรรมสื่อมวลชนเนื้อหาหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เน้นการนำเสนอภาพด้านลบมากกว่าด้านบวก ขณะที่เนื้อหาหน้าในเน้นการนำเสนอภาพด้านบวกมากกว่าด้านลบ ส่วนวาทกรรมสื่อภาครัฐทั้งรายการโทรทัศน์และข่าวประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์เน้นการนำเสนอภาพด้านบวกมากกว่าด้านลบ เมื่อพิจารณาเชิงคุณภาพพบว่า ภาพตัวแทนด้านลบมักนำเสนอโดยใช้กลวิธีทางภาษาเพื่อเน้นย้ำแง่มุมด้านลบให้โดดเด่น และบางครั้งมีการนำเสนอในลักษณะ “เหมารวม” ส่วนการนำเสนอภาพตัวแทนด้านบวกบางส่วนกลับมีการสะท้อนมุมมองด้านลบต่อผู้เรียนอาชีวศึกษา ผลการวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางวาทกรรมพบว่า วัตถุประสงค์ของผู้ผลิตตัวบท พื้นที่หรือช่องทางการนำเสนอ ตลอดจนกลุ่มผู้รับสาร ในวาทกรรมสื่อมวลชนและวาทกรรมสื่อภาครัฐ มีส่วนสำคัญต่อการประกอบสร้างและนำเสนอภาพตัวแทนผู้เรียนอาชีวศึกษา ตลอดจนส่งผลต่อการรับรู้ภาพตัวแทนผู้เรียนอาชีวศึกษาของคนในสังคม ที่สำคัญคือภาพตัวแทนด้านลบมักนำเสนอในพื้นที่ที่ผู้อ่านสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าและมักจะได้รับความสนใจมากกว่าภาพตัวแทนด้านบวก ผลการวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรมพบว่า ปัจจัยทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อการผลิตตัวบท ได้แก่ สถานการณ์ด้านการอาชีวศึกษาในสังคมไทย กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการอาชีวศึกษา แนวคิดที่มีในสังคมวัฒนธรรมไทย ได้แก่ แนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าคนนายคน ค่านิยมที่มีต่อการเรียนสายสามัญและปริญญาบัตร บทบาทของผู้เรียนอาชีวศึกษาในเหตุการณ์สำคัญ กล่าวโดยสรุป ผลการศึกษานี้เผยให้เห็นว่าภาพตัวแทนผู้เรียนอาชีวศึกษาในวาทกรรมสื่อมวลชนและวาทกรรมสื่อภาครัฐถูกคัดเลือกบางด้านมานำเสนอให้โดดเด่นตามวัตถุประสงค์ของผู้ผลิตวาทกรรม ความตระหนักรู้ดังกล่าวน่าจะนำไปสู่การรับสารอย่างมีวิจารณญาณและการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้านปราศจากการแฝงอคติ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการอาชีวศึกษาให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย