Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับการสร้างภาพตัวแทนผู้กระทำผิดในกฎหมายไทยและเปรียบเทียบภาพตัวแทนผู้กระทำผิดในกฎหมายไทย 3 ยุค ได้แก่ ยุคกฎหมายจารีตประเพณี ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ระบบประมวลกฎหมาย และยุคประมวลกฎหมาย โดยเก็บข้อมูลจากตัวบทกฎหมายจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ศิลาจารึกกฎหมายลักษณโจร กฎหมายตราสามดวง กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 และประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 รวมจำนวนบทบัญญัติกฎหมายทั้งสิ้น 2,571 มาตรา ผลการศึกษาพบว่าวาทกรรมกฎหมายไทยใช้กลวิธีทางภาษาเพื่อนำเสนอภาพตัวแทนผู้กระทำผิด 2 กลวิธีหลัก ได้แก่ การเลือกใช้ศัพท์และการใช้ประโยคเพื่อสื่อความหมาย เมื่อวิเคราะห์ “กลวิธีทางภาษา” ทำให้เห็นการสร้างภาพตัวแทนผู้กระทำผิดในกฎหมายไทยแต่ละยุคทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน ภาพตัวแทนผู้กระทำผิดที่ปรากฏเหมือนกันในกฎหมายทุกยุค ได้แก่ “ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลอันตราย” ส่วนภาพตัวแทนผู้กระทำผิดที่แตกต่างกันในกฎหมายแต่ละยุคสรุปได้ดังนี้ ยุคแรก (สมัยสุโขทัย อยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น) เป็นยุคที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะผู้ปกครองสูงสุด ทรงเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการบริหารและปกครองประเทศ ตลอดจนอำนาจในการตรากฎหมายภายใต้หลักการแห่งพระธรรมศาสตร์ พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์เปรียบเหมือนเทวโองการอันศักดิ์สิทธิ์ การกระทำผิดกฎหมายในยุคนี้คือการละเมิดทั้งศีลธรรมและพระมหากษัตริย์ ภาพตัวแทนผู้กระทำผิดที่ถูกประกอบสร้างผ่านตัวบทกฎหมายในยุคนี้จึงเป็น “ผู้กระทำผิดคือคนบาป” เป็น “คนที่ไม่เคารพยำเกรงพระมหากษัตริย์” และเป็น “คนที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย” ซึ่งกฎหมายต้องกำจัดทิ้ง ยุคที่สอง (สมัยรัชกาลที่ 4 – 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) โลกกำลังเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ซึ่งสังคมไทยจำเป็นต้องปรับตัวตามด้วยการปฏิรูปสังคม ปฏิรูปประเทศ และปฏิรูปกฎหมายโดยการรับแนวคิดกฎหมายตะวันตกมาปรับใช้กับกฎหมายไทย ยุคนี้เป็นยุคที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะผู้ปกครองสูงสุดเช่นในยุคแรกแต่แตกต่างกันตรงที่ในยุคนี้มีแนวคิดว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่บัญญัติขึ้นโดยมนุษย์ ส่งผลให้กฎหมายที่ถูกตราขึ้นในยุคที่สองนี้เป็นกฎที่มาจากพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยตรง บทบัญญัติกฎหมายในยุคนี้จึงสร้างภาพตัวแทนผู้กระทำผิดประการหนึ่งซึ่งแตกต่างกับกฎหมายยุคอื่นคือ “ผู้กระทำผิดคือคนที่พระมหากษัตริย์ระบุว่ากระทำความผิดหรือมีความผิด” ส่วนภาพตัวแทนผู้กระทำผิดที่ปรากฏชัดเจนในกฎหมายอาญาไทยยุคนี้คือ “ผู้กระทำผิดเป็นคนที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย” และผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายถือเป็น “คนที่(สมควร)ต้องถูกลงโทษ” ยุคที่สาม ภายหลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในสมัยรัชกาลที่ 7 ด้วยระบบคิดแบบประชาธิปไตยทำให้พระมหากษัตริย์ในยุคนี้มิใช่ผู้มีอำนาจในการตรากฎหมายเช่นเดิม บทบัญญัติกฎหมายอาญาไทยในยุคนี้จึงไม่มีการกล่าวถึงการกระทำความผิดว่าเป็นการละเมิดพระราชอาชญาของพระมหากษัตริย์เช่นกฎหมายในยุคก่อน หากแต่นำเสนออย่างชัดเจนว่า “ผู้กระทำผิดคือคนที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย” และถือเป็น “คนที่(สมควร)ต้องถูกลงโทษ”