Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง กระบวนการสร้างความหมายในนิยายเบงคลีของเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษากระบวนการสร้างความหมายในนิยายเบงคลี ผลการศึกษาพบว่านิยายเบงคลีมีกระบวนการสร้างความหมายที่แสดงการวิพากษ์ประเด็นเกี่ยวกับความคิดความเชื่อ ชนชั้นทางสังคม และเพศสถานะของผู้หญิง ประเด็นแรก นิยายเบงคลีตั้งคำถามกับความคิดความเชื่อของอินเดีย ได้แก่ การตั้งคำถามเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า การตั้งคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ของความเชื่อในศาสนาต่อการดำเนินชีวิต และการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ประเด็นที่สอง นิยายเบงคลีนำเสนอการวิพากษ์ชนชั้นทางสังคมด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของชนชั้นต่าง ๆ ในสังคม ประเด็นที่สาม นิยายเบงคลีตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานภาพของผู้หญิงและแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงมีปัญญาทัดเทียมผู้ชาย
มีความกล้าหาญ เข้มแข็ง และมีสิทธิ์ได้รับคู่ครองที่คู่ควร นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีความเป็นปึกแผ่นและมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ครอบครัวหรือสังคมได้ อีกทั้งผู้หญิงก็มีสถานะเท่าเทียมกับสามี นิยายเบงคลีเป็นงานแปลที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างสารคดีและบันเทิงคดีอย่างกลมกลืน มีคุณค่าในฐานะ “นิยาย” ที่แตกต่างไปจากนิยายแบบเดิมที่มีในวัฒนธรรมวรรณศิลป์ของไทยที่ไม่เพียงให้ความบันเทิง แต่ยังให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดียอย่างหลากหลาย เป็นหนังสือที่ช่วยขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับภารตวิทยาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและให้คติแง่คิดที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน