Abstract:
งานวิจัยที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ตึงเครียดหรือโศกเศร้าเป็นประเด็นที่น่าสนใจศึกษา อีกทั้งในปริบทที่ดูไม่น่าจะมีอารมณ์ขันเกิดขึ้นนั้นก็กลับปรากฏการใช้อารมณ์ขันได้อีกด้วย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์โครงสร้าง ประเด็น และกลวิธีทางภาษาในปริจเฉทเรื่องเล่าความทรงจำเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ เพื่อวิเคราะห์ประเด็นที่ทำให้เกิด
อารมณ์ขันและหน้าที่ของอารมณ์ขันในปริจเฉทดังกล่าว และเพื่อเปรียบเทียบลักษณะของปริจเฉทเรื่องเล่าของผู้ที่สูญเสียและผู้ที่ไม่ได้สูญเสียบุคคลใกล้ชิด ข้อมูลมาจากการบันทึกเสียงการเล่าเรื่องการประสบภัยพิบัติของผู้มีประสบการณ์ตรงในเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 บริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย จำนวน 60 เรื่อง
รวมความยาว 15 ชั่วโมง 14 นาที 10 วินาที ผู้เล่าเรื่องประกอบด้วยกลุ่มผู้ที่สูญเสียและกลุ่มผู้ที่ไม่ได้สูญเสียบุคคลใกล้ชิดจำนวนกลุ่มละ 30 คน
ผลการวิจัยพบว่าปริจเฉทเรื่องเล่าความทรงจำเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิมีองค์ประกอบโครงสร้างของเรื่องเล่า
5 องค์ประกอบ องค์ประกอบที่พบมากคือส่วนดำเนินเรื่อง ส่วนปูเรื่อง และส่วนประเมินค่า ปริจเฉทเรื่องเล่าส่วนใหญ่
เรียบเรียงความตามลำดับเวลา ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเรื่องเล่าความทรงจำเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิแตกต่างกับเรื่องเล่า
อื่น ๆ เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่เป็นจุดสูงสุดของเรื่องหลายเหตุการณ์ และมักไม่ค่อยปรากฏส่วนคลายปม ในด้านประเด็นที่เล่า
พบ 54 ประเด็น จัดกลุ่มได้เป็น 10 กลุ่ม ประเด็นที่พบมากคือเรื่องการได้รับข้อมูลจากบุคคลอื่น ภูมิหลังของตนเอง และการหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ส่วนกลวิธีทางภาษาที่ใช้ในการเล่าเรื่องมี 18 กลวิธี จัดกลุ่มได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกลวิธีที่นำเสนอภาพให้รู้สึกเสมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์และกลุ่มกลวิธีที่ช่วยให้การเล่าเรื่องดำเนินไปอย่างราบรื่น กลวิธีที่พบมากคือการกล่าวซ้ำตนเองเพื่อเน้นย้ำประเด็นที่กล่าวไปก่อนหน้า การกล่าวซ้ำตนเองเพื่อทอดเวลาเพื่อคิดสิ่งที่จะพูดต่อไป และการใช้ถ้อยคำของผู้อื่นที่ยกมา
กล่าวใหม่แบบตรง ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแม้ผู้เล่าเรื่องจะมิได้เป็นนักเล่าเรื่องมืออาชีพ และแม้ภัยพิบัตินี้จะเกิดขึ้น
เมื่อนานมาแล้ว แต่ผู้เล่าเรื่องก็ยังสามารถเล่าเรื่องให้รู้สึกเสมือนได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วยได้ แสดงให้เห็นว่าภัยพิบัตินี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ประสบภัยพิบัติ ด้านอารมณ์ขันพบว่าประเด็นที่ทำให้เกิดอารมณ์ขันมี 12 ประเด็น ประเด็นที่พบมากคือเรื่องหายนะของตนเอง หน้าที่ของอารมณ์ขันมี 4 หน้าที่ ได้แก่ การแสดงการมีทัศนคติเชิงบวก การแสดงความสามารถในการจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกด้านลบ การลดน้ำหนักการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น และการแสดงความกลัว
โดยไม่เสียภาพลักษณ์ หน้าที่ที่พบมากคือการแสดงการมีทัศนคติเชิงบวก อันสะท้อนให้เห็นการมองโลกในแง่ดีของคนไทย
เมื่อเปรียบเทียบปริจเฉทเรื่องเล่าของผู้ประสบภัยพิบัติทั้ง 2 กลุ่มพบว่าประสบการณ์ความสูญเสียมีผลต่อประเด็นที่เล่า กลวิธี
ทางภาษา ประเด็นที่ทำให้เกิดอารมณ์ขัน และหน้าที่ของอารมณ์ขัน ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าเวลาที่ทอดผ่านมาอย่างยาวนานนั้นทำให้ผู้เล่าเรื่องยอมรับการประสบภัยพิบัติและเล่าถึงเหตุการณ์ภัยพิบัตินี้ได้อย่างมีอารมณ์ขัน สอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง T-Timing
ในแนวคิดเรื่อง BET ของบุกซ์แมน (Buxman, 2008)