Abstract:
ปัจจุบันภาษาอังกฤษมีบทบาทมากขึ้นทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก การสลับภาษาในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยในสังคมไทย ผู้พูดภาษาไทยมีความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุนการสลับภาษาระหว่างภาษาไทยกับอังกฤษ งานวิจัยนี้จึงต้องการสำรวจทัศนคติของผู้พูดสองภาษาไทย-อังกฤษต่อรูปประโยคที่มีการสลับภาษาแบบต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของผู้พูดสองภาษาไทย-อังกฤษต่อรูปประโยคภาษาเดียว และรูปประโยคที่มีการสลับภาษาแบบต่าง ๆ และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างทัศนคติต่อการสลับภาษากับอายุ ระดับพื้นเพทางภาษาอังกฤษ และแวดวงอาชีพของผู้พูด ผู้วิจัยใช้วิธีการอำพรางเสียงพูดเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล โดยให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวนทั้งสิ้น 80 คน คัดเลือกโดยการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงตามชั้นภูมิประกอบด้วยผู้พูดสองภาษาไทย-อังกฤษในรุ่นอายุแซด (Generation Z) จำนวน 40 คน และในรุ่นอายุวาย (Generation Y) 40 คน ประเมินทัศนคติด้านความน่าดึงดูดทางสังคมและสถานภาพทางสังคมของเสียงพูดทดสอบผ่านการให้คะแนนด้วยมาตราวัดความแตกต่างทางความหมายในแบบสอบถาม และแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในคำถามปลายเปิดแบบกรอบบรรยายความ ผลพบว่า รูปประโยคที่ใช้ภาษาไทยอย่างเดียวเป็นรูปประโยคที่ได้รับทัศนคติเชิงบวกสูงที่สุด รองลงมาคือ รูปประโยคที่มีการสลับภาษาระหว่างประโยค รูปประโยคที่ใช้ภาษาอังกฤษอย่างเดียว รูปประโยคที่แทรกคำเดี่ยวภาษาอังกฤษ รูปประโยคที่มีการสลับภาษาด้วยวลี และรูปประโยคที่มีการสลับเป็นก้อนคำตามลำดับ ตัวแปรอายุ ระดับพื้นเพทางภาษาอังกฤษ และแวดวงอาชีพมีความสัมพันธ์กับทัศนคติต่อประโยคที่มีการการสลับภาษาอยู่บ้าง ทว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ได้จากแบบสอบถามปลายเปิดแสดงให้เห็นว่า ความถี่ในการสัมผัสกับรูปประโยคที่มีการสลับภาษามี อิทธิพลกับทัศนคติต่อรูปประโยคที่มีการสลับภาษา ผู้สัมผัสกับรูปประโยคดังกล่าวมากผ่านสื่อประเภทต่าง ๆ หรือในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มยอมรับ รวมถึงมองรูปประโยคนั้นในเชิงบวกมากกว่าคนที่สัมผัสกับรูปประโยคดังกล่าวน้อย