Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของการยอมรับ PAS (physician-assisted suicide / การทำอัตวินิบาตกรรมโดยได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์) แบบสิทธิเชิงลบที่เป็นเสรีภาพในการตกลงร่วมกันส่วนตัวระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ซึ่งไม่มีบุคคลผู้รองรับสิทธิ์ที่จะเป็นผู้มีพันธะในการให้ความช่วยเหลือ ทำให้แม้ PAS จะไม่ผิดกฎหมาย ผู้ป่วยอาจยังไม่สามารถแสดงออกซึ่งสิทธิ์นั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักคิดเสรีนิยมเสนอให้ PAS เป็นสิทธิเชิงบวก เช่น เดวิด คัมมิสกี (David Cummiskey) เสนอว่ารัฐมีหน้าที่ในการอำนวยให้มี PAS แบบบริการด้านสุขภาพ โดยอ้างเหตุผลจากสิทธิพื้นฐานในการกำหนดชีวิตตนเอง (right to self-determination) วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดประสงค์ที่จะเสนอวิธีอ้างเหตุผลสนับสนุนการทำ PAS ในข้อเสนอของคัมมิสกี โดยพิจารณาข้อโต้แย้งที่เป็นไปได้สามประการ คือ (1) การที่ผู้ป่วยเลือก PAS ภายใต้ความเจ็บปวดไม่ถือว่ามีอัตตาณัติเพราะไม่มีคุณค่าเชิงการใช้เหตุผล (2) ไม่ควรยอมรับ PAS เพราะเป็นตัวเลือกที่กดดันผู้ป่วย และ (3) ว่าไม่ควรยอมรับ PAS เพราะส่งผลกระทบคุณค่าสังคม และวิทยานิพนธ์นี้เสนอว่าแนวคิดในทฤษฎีพันธสัญญาของโทมัส สแคนลอน (Thomas Scanlon) สามารถใช้เป็นฐานเพื่อตอบข้อโต้แย้งเหล่านั้นได้ อันได้แก่ มโนทัศน์ในกระบวนการใช้เหตุผลเรื่อง “ทัศนคติที่แปรตามการตัดสิน” (judgment-sensitive attitude) ซึ่งมีบทบาทเป็นแกนหลักในการเป็นฐานที่ทำให้มโนทัศน์อื่นๆ มีความสมเหตุสมผล ทำให้อธิบายได้ว่า การที่ผู้ป่วยเลือกภายใต้แรงจูงใจอย่างความเจ็บปวดและความกดดันสามารถถือเป็นการตัดสินใจที่มีคุณค่าเชิงการใช้เหตุผลและมีอัตตาณัติ ผู้ป่วยจึงมีความรับผิดชอบต่อการเลือกของตนเองที่ไม่อาจโทษคนอื่นได้ ทำให้ฝ่ายค้านขาดฐานที่จะใช้ปฏิเสธนโยบายสนับสนุน PAS ได้อย่างสมเหตุสมผล และการตัดสินเปลี่ยนทัศนคติเรื่องคุณค่าในสังคมอาจไม่ใช่ผลลัพธ์ไม่ดีเสมอไป แนวคิดของสแคนลอนจึงสามารถเป็นบรรทัดฐานให้ฝ่ายเสรีนิยมใช้สนับสนุนข้ออ้างของตัวเองได้รัดกุมและแน่นหนามากขึ้น