Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการสร้างอาชญนิยาย
ในเรื่องชุด พุ่มรัก พานสิงห์ ของวินทร์ เลียววาริณ และวิเคราะห์การวิพากษ์สังคมในงานดังกล่าว ตัวบทที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วยรวมเรื่องสั้น 4 เล่ม ได้แก่ ฆาตกรรมกลางทะเล คดีผีนางตะเคียน คดีล่าคนเจ้าชู้ คดีศพล่องหน และนวนิยาย 5 เล่ม ได้แก่ ฆาตกรรมจักรราศี คดีเจ็ดแพะ คดีหนอนนิยาย
คดีสามเงา และ ฆาตกรรมกุหลาบดำ จากการศึกษาพบว่าเรื่องชุด พุ่มรัก พานสิงห์ ของวินทร์ เลียววาริณ
เป็นอาชญนิยายที่มีการผสมผสานการประพันธ์ 2 ประเภท ได้แก่ เรื่องสั้นและนวนิยาย รวมอยู่ใน
ชุดเดียว และมีโครงเรื่องสืบสวนสอบสวน ทั้งแบบอาชญนิยายคลาสสิก และแบบนักสืบเสี่ยงภัย
ที่โครงเรื่องประกอบด้วยโครงเรื่องหลักและโครงเรื่องรองที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างสมเหตุสมผล
มีการประกอบสร้างตัวละครหลักเป็นนักสืบลูกทุ่งที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและแปลกใหม่
เน้นการบรรยายฉากที่กระชับ ใช้กลวิธีการตั้งชื่อเรื่องที่หลากหลายและเชื่อมโยงกับคดี มีกลวิธี
การสืบสวนสอบสวนที่เป็นลำดับขั้นตอนและสมจริง ตลอดจนมีการผสมผสานความขบขัน
เพื่อสร้างบรรยากาศที่แตกต่างจากอาชญนิยายเรื่องอื่น ๆ กลวิธีการประกอบสร้างอาชญนิยายในเรื่องชุด พุ่มรัก พานสิงห์ นี้ยังเป็นกลวิธีที่ช่วยนำเสนอแนวคิดวิพากษ์สังคมในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์การเมืองการปกครอง การวิพากษ์ความรุนแรงในสังคม เรื่องระบบกฎหมายและกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่ไร้ประสิทธิภาพ
เรื่องความตกต่ำของศาสนาและศีลธรรม เรื่องการกีดกันกลุ่มคนชายขอบ เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ
เรื่องจริยธรรมสื่อมวลชน เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม และเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพในร่างกายของแต่ละบุคคล การศึกษาเรื่องการสร้างอาชญนิยายและการวิพากษ์สังคมในเรื่องชุดดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นถึงการใช้อาชญนิยายเป็นพื้นที่ในการนำเสนอประเด็นทางสังคมได้อย่างสร้างสรรค์และแยบยล