Abstract:
การส่งและการกระจายแรงกดของวัสดุฐานฟันปลอมมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุฐานฟันปลอมที่เลือกใช้ วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ คือ เพื่อทดสอบการส่งและการกระจายแรงกดของวัสดุฐานฟันปลอมชนิดที่อ่อนตัวเมื่อถูกความรัอนภายใต้แรงกระแทกและวัสดุฐานฟันปลอมโพลีเมทิล เมตาคริเลทชนิดบ่มตัวด้วยความร้อน รวมถึงเพื่อประเมินค่าความยืดหยุ่นของโมดูลัสและความแข็งผิวระดับนาโนของวัสดุฐานฟันปลอมชนิดที่อ่อนตัวเมื่อถูกความร้อนและวัสดุฐานฟันปลอมโพลีเมทิลเมตาคริเลทชนิดบ่มตัวด้วยความร้อน วัสดุฐานฟันปลอมที่นำมาศึกษาในครั้งนี้ประกอบด้วยวัสดุฐานฟันปลอมชนิดที่อ่อนตัวเมื่อถูกความร้อน 3 ชนิด (โพลีเอไมด์ 3 ชนิด: FRS TCS และ VAL โพลีคาร์บอเนต: BPC เอทิลีน โพรไพลีน: DUR) และวัสดุฐานฟันปลอมโพลีเมทิล เมตาคริเลทชนิดบ่มตัวด้วยความร้อน (TRI) โดยฝังซี่ฟันปลอมกรามล่างซี่แรกชนิดอะคริลิกเรซินในทุกชิ้นตัวอย่างของกลุ่มฐานฟันปลอม (จำนวนตัวอย่าง = 6) ค่าพื้นที่การส่งและกระจายแรง และค่าแรงดันสูงสุดของทุกชิ้นตัวอย่างภายใต้แรงกระแทกขนาด 50 นิวตันได้รับการตรวจด้วยแผ่นทดสอบแรงดันร่วมกับโปรแกรมวิเคราะห์ระดับดิจิทอล สำหรับค่าความยืดหยุ่นของโมดูลัสและค่าความแข็งผิวระดับนาโนของทุกกลุ่มวัสดุฐานฟันปลอม (จำนวนตัวอย่าง = 10) ถูกวัดโดยใช้ระบบเครื่องวัดความแข็งผิวระดับนาโน ข้อมูลพื้นที่การส่งและกระจายแรงกด ความยืดหยุ่นของโมดูลัสและค่าความแข็งผิวระดับนาโนนำมาวิเคราะห์ทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนทางเดียว ตามด้วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบเชิงซ้อนชนิดเทมแฮน ขณะที่ค่าความแข็งผิวระดับนาโนใช้ทูกี้เฮชเอสดี สำหรับค่าแรงดันสูงสุดนำมาวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนด้วยการทดสอบครัสครัล-วอลลิสตามด้วยการทดสอบแมนวิทนียูที่ระดับความเชื่อมั่น 0.05 ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่การส่งและการกระจายแรงกดของกลุ่ม TCS แสดงค่าสูงที่สุด ขณะที่กลุ่ม DUR แสดงค่าต่ำที่สุด ค่าแรงกดสูงสุดของกลุ่ม VAL TCS และ BPC มีค่าไม่แตกต่างกันและต่ำกว่ากลุ่ม TRI สำหรับค่าความยืดหยุ่นของโมดูลัสและค่าความแข็งผิวระดับนาโนของกลุ่มวัสดุฐานฟันปลอมชนิดที่อ่อนตัวเมื่อถูกความรัอนทั้งหมดมีค่าต่ำกว่ากลุ่ม TRI