Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคืนกลับแร่ธาตุของกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ชนิดดัดแปลงด้วยเรซิน (Resin-modified glass ionomer cement; RMGIC) กับแคลเซียมซิลิเกตซีเมนต์ชนิดดัดแปลงด้วยเรซิน (Resin-modified calcium silicate cement; RMCSC) ทดสอบโดยใช้เนื้อฟันส่วนตัวฟันจากฟันกรามแท้มนุษย์จำนวน 24 ซี่ ทำการตัดตัวฟันที่รอยต่อหนึ่งส่วนสามกลางตัวและหนึ่งส่วนสามปลายฟันจากนั้นกรอเตรียมโพรงฟันชนิดคลาสวันบนผิวเนื้อฟัน บริเวณพื้นโพรงฟันจะถูกวัดความแข็งผิวระดับจุลภาคที่ 3 บริเวณ ได้แก่ บริเวณควบคุม บริเวณสูญเสียแร่ธาตุ และบริเวณคืนกลับแร่ธาตุ ทำการแบ่งแต่ละบริเวณด้วยการทาน้ำยาทาเล็บ โดยในขั้นแรกทาน้ำยาทาเล็บที่ผิวฟันรอบนอกทั้งหมด ผนังโพรงฟันโดยรอบ และ 1 ใน 3 ของพื้นโพรงฟันบริเวณแรกเพื่อแบ่งบริเวณควบคุม จากนั้นนำชิ้นงานไปผ่านสภาวะจำลองที่ส่งเสริมให้เกิดการละลายแร่ธาตุ แล้วทาน้ำยาทาเล็บที่ 1 ใน 3 ของพื้นโพรงฟันบริเวณที่สองเพื่อแบ่งบริเวณสูญเสียแร่ธาตุ แบ่งชิ้นทดสอบออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 12 ชิ้น โดยกลุ่มแรกบูรณะโพรงฟันด้วย RMGIC (กลุ่ม RMGIC) และอีกกลุ่มบูรณะด้วย RMCSC (กลุ่ม RMCSC) เมื่อบูรณะเสร็จ จากนั้นแช่ตัวอย่างทั้งหมดในน้ำปราศจากไอออนที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 วัน ทำการฝังชิ้นงานทั้งหมดอะคริลิกเรซิน และตัดเป็นครึ่งชิ้นงานตามแนวใกล้กลาง-ไกลกลาง วัดค่าความแข็งระดับจุลภาคชนิดนูปทั้งสามบริเวณที่ระยะ 20, 40, 60, 100, 150 และ 200 µm จากรอยต่อระหว่างวัสดุบูรณะกับพื้นโพรงฟัน โดยทำการวัดซ้ำในแต่ละระยะเป็นจำนวนสามรอยกด มีระยะห่างระหว่างรอยกด 100 µm คำนวณความแตกต่างของค่าเฉลี่ยความแข็งระดับจุลภาคแบบนูปในแต่ละบริเวณ วิเคราะห์ความลึกของการเกิดการคืนกลับแร่ธาตุในแต่ละวัสดุด้วยสถิติ paired t-test และเปรียบเทียบความสามารถในการคืนกลับแร่ธาตุระหว่างวัสดุด้วยสถิติ independent t-test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ p <.05 จากผลการศึกษาพบว่าความลึกของการเกิดการคืนกลับแร่ธาตุของวัสดุทั้งสองชนิดมีไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของค่าความแข็งระดับจุลภาคแบบนูปหลังผ่านการคืนกลับแร่ธาตุของกลุ่ม RMCSC ต่ำกว่ากลุ่ม RMGIC จากผลการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าวัสดุ RMGIC มีแนวโน้มมีประสิทธิภาพในการคืนกลับแร่ธาตุมากกว่าวัสดุ RMCSC