Abstract:
จุดประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบความแข็งระดับจุลภาคที่พื้นผิวในรอยผุระยะเริ่มต้นของชิ้นฟันที่ติดกับวัสดุบูรณะอัลคาไซต์ แก้วไอโอโนเมอร์ และคอมโพสิตเรซินชนิดไม่ปลดปล่อยฟลูออไรด์ วิธีการวิจัย: นำชิ้นฟันที่ตัดจากด้านประชิดของฟันกรามน้อยแท้บน จำนวน 30 ชิ้นมาฝังในอะคริลิกแล้ววัดความแข็งผิวระดับจุลภาคที่พื้นผิวด้วยหัวกดนูป เพื่อบันทึกเป็นค่าตั้งต้นและแบ่งกลุ่ม 3 กลุ่ม (1)กลุ่มวัสดุแก้วไอโอโนเมอร์ 10 ชิ้น (2)กลุ่มวัสดุอัลคาไซต์ 10 ชิ้น (3)กลุ่มวัสดุคอมโพสิตเรซินชนิดไม่ปลดปล่อยฟลูออไรด์ 10 ชิ้น แล้วจึงนำชิ้นฟันมาสร้างรอยผุจำลอง ทำการวัดความแข็งผิวระดับจุลภาคที่พื้นผิวของรอยผุจำลอง จากนั้นนำชิ้นฟันไปติดกับบล็อกอะคริลิกที่ทำการบูรณะด้านประชิดด้วยวัสดุบูรณะตามกลุ่ม แล้วนำไปผ่านกระบวนการเลียนแบบสภาวะการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดด่างในช่องปากเป็นเวลา 7 วันแล้วจึงนำมาวัดความแข็งผิวระดับจุลภาคที่พื้นผิว คำนวณหาร้อยละการคืนกลับความแข็งผิวแล้วเปรียบเทียบระหว่าง 3 กลุ่มด้วยสถิติ Kruskal-Wallis Test โดยกำหนดระดับนัยสำคัญที่ 0.05 และทดสอบความแตกต่างในแต่ละคู่ด้วยสถิติ Mann-Whitney Test โดยมีระดับนัยสำคัญที่ 0.017 ซึ่งเป็นระดับนัยสำคัญที่ผ่านการทดสอบ Bonferroni multiple testing correction ผลการศึกษา: ค่าร้อยละการคืนกลับความแข็งผิวระดับจุลภาคของกลุ่มวัสดุอัลคาไซต์มีค่าเฉลี่ยอันดับมากที่สุดเป็น 25.5 ส่วนกลุ่มแก้วไอโอโนเมอร์และกลุ่มคอมโพสิตเรซินเป็น 15.5 และ 5.5 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อทำการเปรียบเทียบค่าร้อยละการคืนกลับความแข็งผิวระดับจุลภาคระหว่าง 3 กลุ่มพบว่าทุกกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p <0.017) สรุป: การบูรณะด้วยวัสดุอัลคาไซค์ให้ผลการคืนกลับแร่ธาตุในรอยผุระยะเริ่มต้นของชิ้นฟันได้มากกว่าวัสดุบูรณะแก้วไอโอโนเมอร์และคอมโพสิตเรซินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในห้องปฏิบัติการ วัสดุอัลคาไซต์จึงถือเป็นวัสดุหนึ่งที่สามารถเลือกใช้ในกรณีที่ต้องบูรณะฟันคลาสทู ในกรณีที่ฟันซี่ข้างเคียงมีรอยผุระยะเริ่มต้นเพื่อยับยั้งการลุกลามของรอยโรคฟันผุ