Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขนาดและมุมของข้อต่อขากรรไกรและขากรรไกรล่างในคนไทยที่มีการสบฟันผิดปกติประเภทที่สาม การศึกษาทำในภาพรังสีโคนบีมซีทีของข้อต่อขากรรไกรและขากรรไกรล่างชาวไทย อายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 42 ภาพ แบ่งเป็นเพศชาย 10 คน อายุ 20-37 ปี อายุเฉลี่ย 23.40 ± 5.10 ปี จำนวน 20 ภาพ เพศหญิง 11 คน อายุ 20-42 ปี อายุเฉลี่ย 28.18 ± 6.10 จำนวน 22 ภาพ ความแตกต่างระหว่างฝั่งซ้ายและฝั่งขวาวิเคราะห์โดยสถิติ Wilcoxon Signed Ranks Test และ paired t-test ความแตกต่างระหว่างเพศวิเคราะห์โดยใช้สถิติ Independent t-test และ Mann-Whitney U test สหสัมพันธ์ระหว่างขนาดและมุมของข้อต่อขากรรไกรและขากรรไกรล่างวิเคราะห์โดย Pearson correlation และ Spearman correlation ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบระหว่างฝั่งซ้ายและขวา พบว่ามุมระหว่างส่วนยื่นคอนดายล์และระนาบแบ่งซ้ายขวาด้านซ้ายมีค่ามากกว่าด้านขวา (p= 0.024) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเพศ พบว่า ความลึกแอ่งข้อต่อขากรรไกร (p= 0.034) ความกว้างส่วนยื่นคอโรนอยด์ (p <0.001) ความสูงของขากรรไกรล่าง (p= 0.002) ความสูงของขากรรไกรล่างส่วนท้ายฟันกราม (p= 0.003) ความกว้างของขากรรไกรล่างส่วนท้ายฟันกราม (p= 0.020) ความยาวของขากรรไกรล่างในเพศชายมีค่ามากว่าเพศหญิง (p= 0.007) ส่วนมุมส่วนยื่นคอนดายล์ในระนาบแบ่งหน้า-หลัง (p= 0.021) และความชันผนังหลังแอ่งข้อต่อขากรรไกร (p= 0.026) ในเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย สหสัมพันธ์ระหว่างข้อต่อขากรรไกรและขากรรไกรล่าง พบว่า ความกว้างของขากรรไกรล่างส่วนท้ายฟันกราม และความยาวของขากรรไกรล่าง (r= 0.754) ความกว้างของขากรรไกรล่างส่วนท้ายฟันกราม และความกว้างส่วนยื่นคอโรนอยด์ (r=0.733) ความกว้างของขากรรไกรล่างส่วนท้ายฟันกราม และความสูงของขากรรไกรล่าง (ρ=0.802) ความสูงของขากรรไกรล่างส่วนท้ายฟันกราม และความสูงของขากรรไกรล่าง (ρ=0.759) มีสหสัมพันธ์ในระดับสูง สรุปผลการศึกษา ในผู้ใหญ่ชาวไทยที่มีลักษณะสบฟันประเภทที่สามมีความสัมพันธ์ระหว่าง ความกว้างของขากรรไกรล่างส่วนท้ายฟันกราม และความยาวของขากรรไกรล่าง ความกว้างของขากรรไกรล่างส่วนท้ายฟันกราม และความกว้างส่วนยื่นคอโรนอยด์ ความกว้างของขากรรไกรล่างส่วนท้ายฟันกราม และความสูงของขากรรไกรล่าง รวมทั้ง ความสูงของขากรรไกรล่างส่วนท้ายฟันกราม และความสูงของขากรรไกรล่าง ในระดับสูง