Abstract:
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินผลของกรดเอทิลแอสคอร์บิกความเข้มข้นร้อยละ 35 ที่ถูกนำมารวมกับกรดซิตริกความเข้มข้นร้อยละ 50 ต่อความแข็งแรงพันธะยึดเฉือนของแบร็กเกตที่ยึดติดกับเรซินคอมโพสิตและฟันมนุษย์หลังจากการฟอกสี
วัสดุและวิธีการ: งานวิจัยในครั้งนี้ใช้ฟันกรามน้อยบนจำนวน 40 ซี่แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม (10 ซี่ต่อกลุ่ม) โดยกลุ่มควบคุมใช้กรดฟอสฟอริกความเข้มข้นร้อยละ 37 กัดบนผิวเคลือบฟันที่ไม่ได้ฟอกสีฟันเป็นระยะเวลา 15 วินาที สําหรับกลุ่มทดลองที่ 1 ใช้กรดฟอสฟอริกความเข้มข้นร้อยละ 37% กัดบนผิวฟันที่ถูกฟอกสีฟันเป็นระยะเวลา 15 วินาที กลุ่มทดลองที่ 2 ใช้โซเดียมแอสคอร์เบตความเข้มข้นร้อยละ 35 เตรียมผิวเคลือบฟันก่อนเป็นระยะเวลา 5 นาที แล้วจึงตามด้วยการใช้กรดฟอสฟอริกความเข้มข้นร้อยละ 37 กัดบนผิวเคลือบฟันที่ฟอกสีฟันเป็นระยะเวลา 15 วินาที ส่วนกลุ่มทดลองที่ 3 นั้น ได้ใช้กรดที่ผสมด้วยกรดเอทิลแอสคอร์บิกความเข้มข้นร้อยละ 35 รวมกับกรดซิตริกที่ความเข้มข้นร้อยละ 50 กัดบนผิวฟันที่ถูกฟอกสีฟันเป็นระยะเวลา 5 นาที จากนั้นได้ทำการยึดแบร็กเกตโลหะบนผิวเคลือบฟันของฟันทุกกลุ่มและนำฟันไปฝังในท่อพีวีซีโดยใช้อุปกรณ์ชี้นำเพื่อให้ผิวเคลือบฟันด้านแก้มขนานกับแรงที่ใช้ในระหว่างการทดสอบความแข็งแรงของพันธะเฉือน และนำชิ้นงานไปทดสอบความแข็งแรงของพันธะเฉือนโดยเครื่องทดสอบอเนกประสงค์ ความเร็วของหัวตัด 1 มิลลิเมตรต่อนาที จนกว่าแบร็กเกตหลุดจากผิวเคลือบฟัน นำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และศึกษาดัชนีการเหลืออยู่ของสารยึดติด โดยดูจากภาพถ่ายที่ได้จากกล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอภายใต้กำลังขยาย 20 เท่า ด้วยสถิติการทดสอบไคสแควร์ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
ผลการศึกษา: ความแข็งแรงของพันธะเฉือนมีค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สําหรับกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองที่ 1 กลุ่มทดลองที่ 2 และกลุ่มทดลองที่ 3 เท่ากับ 23.30±3.02 14.03±3.13 20.09±2.48 และ 18.24±4.25 เมกะปาสคาลตามลำดับ โดยพบว่าค่าความแข็งแรงของพันธะเฉือนของกลุ่มที่มีการใช้กรดเอทิลแอสคอร์บิกผสมกับกรดซิตริกเป็นสารกัด (กลุ่มทดลองที่ 3) และกลุ่มที่ใช้โซเดียมแอสคอร์เบตปรับสภาพผิวเคลือบฟันก่อนการกัดด้วยกรดฟอสฟอริก (กลุ่มทดลองที่ 2) มีค่าความแข็งแรงของพันธะเฉือนที่มากกว่ากลุ่มที่ใช้กรดฟอสฟอริกอย่างเดียว (กลุ่มทดลองที่ 1) อย่างมีนัยสําคัญ (p=0.03) และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ค่าความแข็งแรงของพันธะเฉือนของกลุ่มที่มีการใช้กรดเอทิลแอสคอร์บิกผสมกับกรดซิตริก (กลุ่มทดลองที่ 3) มีค่าต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ (p=0.008) เช่นกัน และพบว่าค่าการกระจายของดัชนีการเหลืออยู่ของสารยึดติดทั้ง 4 กลุ่มมีความแตกต่างกัน
สรุป: การใช้กรดเอทิลแอสคอร์บิกความเข้มข้นร้อยละ 35 ผสมกับกรดซิตริกความเข้มข้นร้อยละ 50 สามารถเพิ่มค่าความแข็งแรงพันธะในการยึดติดของแบร็กเกตและผิวเคลือบฟันขึ้นได้ ถึงแม้ค่าความแข็งแรงพันธะที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้ค่าสูงเท่ากับกลุ่มที่ไม่ได้ฟอกสีฟันก็ตาม แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มฟอกสีฟันใช้กรดฟอสฟอริกเพียงอย่างเดียว ค่าความแข็งแรงพันธะในการยึดติดของแบร็กเกตและผิวเคลือบฟันที่ได้นั้นถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ