Abstract:
ด้วยเหตุที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยใช้บังคับสำหรับการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่เป็นบุคคลธรรมดา และผู้ต้องหาที่เป็นนิติบุคคล แต่สภาพความเป็นนิติบุคคลมีความแตกต่างจากบุคคลธรรมดา จึงทำให้พบปัญหาในทางปฏิบัติทั้งในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการฟ้องคดี ได้แก่ ปัญหาการใช้ดุลยพินิจในการดำเนินคดีอาญากับนิติบุคคล ปัญหาการคุ้มครองหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากการคุกคามของนิติบุคคล ปัญหาการแสวงหาพยานหลักฐานจากนิติบุคคล ปัญหาการดำเนินคดีกับนิติบุคคลข้ามชาติ ปัญหาการหาบุคคลผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากการใช้นิติบุคคลในการกระทำผิดและปัญหาเรื่องการแสดงเจตนาของนิติบุคคล วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ต้องหาที่เป็นนิติบุคคลในชั้นสอบสวนโดยเปรียบเทียบกับหลักกฎหมายรัฐบาลกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีเกณฑ์การใช้ดุลยพินิจของพนักงานอัยการในการดำเนินคดีอาญากับนิติบุคคล,มีมาตรฐานการคุ้มครองการหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากการคุกคามของนิติบุคคล,เครื่องมือทางกฎหมายในการแสวงหาพยานหลักฐานจากนิติบุคคลเป็นการเฉพาะ,แนวทางการดำเนินคดีกับนิติบุคคลที่ประกอบอาชญากรรมข้ามชาติ,กฎหมายหรือหน่วยงานที่ทำให้สามารถหาบุคคลผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากการใช้นิติบุคคลในการกระทำผิดและเกณฑ์การแสดงเจตนาของนิติบุคคลที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานมากกว่าของประเทศไทย ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วจึงควรนำขั้นตอนการดำเนินคดีอาญาในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นนิติบุคคลมาปรับใช้ในประเทศไทย