Abstract:
วิทยานิพนธ์เล่มนี้มุ่งศึกษาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์มารดาอันเกิดจากการที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยครรภ์มารดาผิดพลาดไม่พบความพิการทางร่างกายของทารกในครรภ์มารดาแต่เมื่อมารดาให้กำเนิดทารกกลับพบว่าทารกมีร่างกายพิการ โดยได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาสถานะและการรับรองสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายลักษณะละเมิดของทารกในครรภ์มารดา การปรับใช้กฎหมายลักษณะละเมิดและค่าสินไหมทดแทนทั้งในส่วนของทารกและในส่วนของบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายและคำพิพากษาศาลของสาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันสาธารณรัฐเยอรมนี และประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทารกที่พิการ จากการศึกษาพบว่าทารกในครรภ์มารดามีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมารดา แต่อย่างไรก็ตามทารกในครรภ์มารดาได้รับการรับรองสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายลักษณะละเมิดตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 วรรคสอง แต่ทั้งนี้เป็นเพียงสิทธิในการฟ้องร้องดำเนินคดีเท่านั้น เนื่องจากในประเด็นที่ศึกษาในส่วนของทารกไม่สามารถปรับใช้กฎหมายลักษณะละเมิดและค่าสินไหมทดแทน จึงมีผลทำให้ความพิการทางร่างกายของทารกไม่ได้รับการเยียวยา ส่วนกรณีของบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถปรับใช้กฎหมายลักษณะละเมิดและค่าสินไหมทดแทนได้ ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลของสาธารณรัฐฝรั่งเศสพบว่าสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้มีแนวทางการเยียวยาทารกที่เกิดมาพิการโดยเป็นการเยียวยาจากกองทุน National Solidarity ซึ่งใช้ระบบการเยียวยาโดยไม่พิสูจน์ความผิด (No fault compensation) ดังนั้นจึงเห็นควรที่จะเสนอให้มีการเยียวยาทารกที่พิการโดยการตั้งกองทุนและใช้ระบบชดเชยความเสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิดดั่งเช่นสาธารณรัฐฝรั่งเศส