Abstract:
เนื่องจากมาตรา 379 ได้แบ่งประเภทของเบี้ยปรับออกเป็นสองประเภทคือ เบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้และเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง โดยกำหนดเหตุของการเรียกหรือริบเบี้ยปรับคือการผิดนัดของลูกหนี้แต่มิได้อธิบายถึงความหมายหรือหลักเกณฑ์ว่ามีลักษณะที่แตกต่างจากหลักในเรื่องลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 204 ที่เป็นบททั่วไปในบรรพ 2อย่างไร ซึ่งตามเหตุผลทางนิติวิธีแล้วต้องนำเอาหลักเรื่องลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 204 มาปรับใช้ แต่ก็พบว่ามีการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องบางกรณีที่ไม่มีความทับซ้อนกับการผิดนัดส่งผลให้เจ้าหนี้ไม่อาจเรียกหรือริบเบี้ยปรับในกรณีนั้นได้ จึงเกิดประเด็นปัญหาว่า แท้จริงแล้วการผิดนัดของลูกหนี้ในมาตรา 379 มีความหมายตามความในมาตรา 204 หรือไม่ นอกจากนี้มีประเด็นปัญหาต่อไปว่าคู่สัญญาจะสามารถตกลงกันกำหนดเหตุในการเรียกหรือริบเบี้ยปรับให้แตกต่างออกไปจากมาตรา 379 เพื่อให้เจ้าหนี้สามารถเรียกหรือริบเบี้ยปรับสำหรับเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นได้หรือไม่
เมื่อได้ศึกษากฎหมายโรมัน กฎหมายแพ่งเยอรมัน กฎหมายแพ่งฝรั่งเศส รวมถึงกฎหมายอังกฤษ พบว่าแนวคิดพื้นฐานของเบี้ยปรับคือการลงโทษลูกหนี้ โดยกฎหมายโรมัน กฎหมายแพ่งเยอรมัน กฎหมายแพ่งฝรั่งเศสเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถกำหนดเบี้ยปรับต่อกันได้และมีเหตุในการเรียกหรือริบเบี้ยปรับคือการผิดนัดของลูกหนี้ ซึ่งเมื่อได้ศึกษาถึงเหตุของการเรียกหรือริบเบี้ยปรับก็พบว่า กฎหมายโรมันและกฎหมายแพ่งเยอรมันต่างเห็นว่าการผิดนัดของลูกหนี้ในกรณีดังกล่าวคือการที่ลูกหนี้ชำระหนี้ล่าช้า โดยไม่ได้อธิบายขยายให้การผิดนัดของลูกหนี้นั้นมีความหมายที่กว้างออกไปจากหลักเรื่องลูกหนี้ผิดนัดอันเป็นบททั่วไปในเรื่องหนี้และเมื่อได้พิจารณาประกอบกับแนวความคิดพื้นฐานที่เบี้ยปรับคือการลงโทษลูกหนี้ จึงสมควรที่กฎหมายจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการลงโทษลูกหนี้ให้ชัดเจนซึ่งการผิดนัดของลูกหนี้คือเรื่องของเวลาก็เป็นหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจน ทั้งแนวความคิดพื้นฐานของการผิดนัดก็มีความสอดคล้องกับเบี้ยปรับเพราะคือการลงโทษลูกหนี้เช่นกัน ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าเหตุในการเรียกหรือริบเบี้ยปรับของเจ้าหนี้ซึ่งคือการผิดนัดของลูกหนี้นั้นเป็นหลักเดียวกันกับการผิดนัดของลูกหนี้ตามบททั่วไปในเรื่องหนี้ ประกอบกับกฎหมายเบี้ยปรับของไทยได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายโรมันผ่านกฎหมายแพ่งเยอรมันจึงสมควรตีความและปรับใช้อย่างเดียวกัน
ผู้เขียนจึงเสนอแนะในประการแรกว่า จะต้องตีความการผิดนัดของลูกหนี้ในมาตรา 379 ให้เคร่งครัด ส่วนในประการสองนั้น เจ้าหนี้จะต้องปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้องในกรณีดังต่อไปนี้ คือ การไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องกรณีชำระหนี้เพียงบางส่วน กรณีชำระหนี้ผิดวัตถุแห่งหนี้หรือชำระหนี้เป็นอย่างอื่น กรณีส่งมอบทรัพย์ที่ชำรุดบกพร่องที่เห็นประจักษ์ กรณีไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสถานที่ และกรณีไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามวิธีที่กำหนด เพื่อทำให้ไม่มีการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามเวลาและส่งผลให้ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 ทำให้เจ้าหนี้สามารถเรียกหรือริบเบี้ยปรับจากลูกหนี้ได้ตามมาตรา 379