Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาถึงแนวคิด หลักการ วิธีการ และระบบการใช้สิทธิของบุคคลในการร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญเมื่อมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2560) มาตรา 213 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 โดยศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนาหลักการร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญมาก่อนประเทศไทย ซึ่งได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ราชอาณาจักรสเปน และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อนำมาวิเคราะห์ ตีความ ศึกษาแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมของสิทธิของบุคคลในการร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญเมื่อมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในประเทศไทย
จากการศึกษาพบว่า สิทธิของบุคคลในการร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญเมื่อมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2560) มาตรา 213 นั้น มีความแตกต่างจากประเทศที่มีการพัฒนาหลักการร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญมาก่อน ทำให้บทบัญญัติดังกล่าวมีปัญหาความคลุมเครือ และมีปัญหาว่าสามารถปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้หรือไม่
ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงขอเสนอแนะแนวทาง โดยเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2560) มาตรา 213 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 เพื่อให้สิทธิของบุคคลในการร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญเมื่อมีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2560) มาตรา 213 นั้น สามารถใช้บังคับได้จริงในทางปฏิบัติ และบรรลุดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายให้มีการรับรอง ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยให้ชัดเจนและครอบคลุมอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น