Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาและวิเคราะห์ในเชิงลึกถึงข้อความคิดว่าด้วยหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ รวมถึงแนวทางการปรับใช้หลักการดังกล่าวควบคู่กับหลักกฎหมายมหาชนอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระบบกฎหมายต่างประเทศและระบบกฎหมายไทย พร้อมทั้งศึกษาและวิเคราะห์เชิงลึกถึงที่มา อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ว่าการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีบทบัญญัติซึ่งมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นั้น จะถือเป็นกรณีที่ขัดต่อหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะหรือไม่
จากการศึกษาข้อความคิดและแนวทางการปรับใช้หลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะในระบบกฎหมายเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และระบบกฎหมายไทย สามารถสรุปได้ว่าหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะเป็นหลักการอันมีวัตถุประสงค์เพื่อประกันความมั่นคงของประชาชนผู้อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ในการรับรองและคุ้มครองสิทธิหรือสถานะที่ประชาชนได้รับมาแล้วตามกฎหมาย โดยกฎหมายที่รัฐตราออกมาในภายหลังไม่สามารถนำไปใช้บังคับให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือหน้าที่ของประชาชนที่มีอยู่หรือได้มาแล้วอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะยังทำหน้าที่เป็นหลักประกันว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไม่ถูกลิดรอนจากผู้ใช้อำนาจรัฐโดยไม่จำเป็นและสมเหตุสมผล แต่อย่างไรก็ตาม หลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะก็มีข้อยกเว้นประการสำคัญ ได้แก่ การดำเนินการเพื่อประโยชน์มหาชนหรือประโยชน์สาธารณะ หากพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างการคุ้มครองหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะให้แก่ปัจเจกชนกับการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้วเห็นว่าการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะมีคุณค่าสูงกว่า ก็ย่อมอาจเป็นสิ่งที่รัฐสามารถกระทำได้ภายใต้หลักความได้สัดส่วน
ดังนั้น บทบัญญัติซึ่งมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หากนำมาใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วันที่กฎหมายใช้บังคับ และเป็นเหตุให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญนั้นพ้นจากตำแหน่งไปทันที บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงถือเป็นกฎหมายที่ขัดต่อหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ และไม่ว่าองค์กรอิสระนั้นจะเป็นองค์กรอิสระที่ใช้อำนาจกึ่งตุลาการ หรือเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ได้ใช้อำนาจกึ่งตุลาการ รัฐก็มีหน้าที่ต้องให้การรับรองและคุ้มครองหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน