Abstract:
ข้อสัญญาการผิดนัดไขว้ (Cross-default clause) เกิดจากการตกลงของคู่สัญญา มีสาระสำคัญ คือ นำเอาการผิดนัดของลูกหนี้ในสัญญาฉบับหนึ่งมาเป็นเหตุแห่งการผิดนัดในสัญญาอีกฉบับหนึ่ง เพื่อปกป้องประโยชน์ของเจ้าหนี้ให้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้พร้อมกับหนี้อื่นหากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้อื่นนั้น ข้อสัญญาการผิดนัดไขว้นี้ถูกนำไปใช้ในสัญญาต่าง ๆ แต่ผลทางกฎหมายของข้อสัญญาการผิดนัดไขว้ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับชำระหนี้และความรับผิดของคู่สัญญาและบุคคลภายนอกที่เข้าประกันหนี้ให้แก่ลูกหนี้
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงศึกษาผลทางกฎหมายของข้อสัญญาการผิดนัดไขว้ในระบบกฎหมายไทย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 รวมถึง กฎและประกาศ ตลอดจนหลักกฎหมายทั่วไป แต่ไม่รวมถึงกรณีเจ้าหนี้ผิดนัด สัญญาของสมาคมระหว่างประเทศ สัญญาซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาทางปกครอง ทั้งนี้ วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีการศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ผลทางกฎหมายของข้อสัญญาการผิดนัดไขว้ด้วย พบว่า ตามกฎหมายสัญญาของรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อสัญญาการผิดนัดไขว้สามารถใช้บังคับได้ เนื่องจากความรับผิดตามสัญญาของกฎหมายของรัฐนิวยอร์กเป็นไปตามหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดที่คู่สัญญาต้องรับผิดตามที่ตกลงกัน แต่ในกรณีกฎหมายล้มละลาย ข้อสัญญาการผิดนัดไขว้มีผลบังคับใช้ได้ต่อเมื่อสัญญาต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกัน สำหรับกฎหมายของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีซึ่งเป็นหนึ่งในต้นแบบที่สำคัญในการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย พบว่า ความรับผิดทางแพ่งของกฎหมายเยอรมันเป็นไปตามหลักความผิด โดยมีบทบัญญัติระบุไว้อย่างชัดเจนในประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน แต่กฎหมายเยอรมันไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับผลบังคับใช้ของข้อสัญญาการผิดนัดไขว้ไว้โดยเฉพาะ
จากการศึกษาพบปัญหาข้อสัญญาการผิดนัดไขว้เป็นการตกลงเกี่ยวกับสิทธิและความรับผิดของคู่สัญญาต่างจากที่กฎหมายกำหนด เช่น ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ก่อนถึงกำหนดชำระหนี้ ลูกหนี้เป็นลูกหนี้ผิดนัดทันทีโดยข้อสัญญาแม้ว่าลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ล่าช้า หรือ ลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้โดยไม่มีความผิด เป็นต้น อีกทั้ง ยังพบปัญหาความไม่ธรรมในการบังคับใช้ของข้อสัญญาการผิดนัดไขว้ที่ไม่มีเงื่อนไขในการเรียกให้ลูกหนี้รับผิดตามสัญญา ทำให้ลูกหนี้รับภาระในหนี้โดยไม่เป็นธรรมและเกินสมควร ดังนั้น ผู้เขียนจึงเสนอหลักเกณฑ์ของข้อสัญญาการผิดนัดไขว้ให้มีผลบังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี โดยพิจารณาจากความเกี่ยวข้องของสัญญาเหล่านั้นไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง รวมถึง การตีความเรื่องความเกี่ยวข้องของสัญญาเหล่านั้น เพื่อให้ข้อสัญญาการผิดนัดไขว้ถูกนำมาใช้บังคับอย่างหมาะสมและเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย