Abstract:
พุทธศาสนามีอิทธิพลต่อการกำหนดความผิดอาญาไทยมาเป็นเวลานาน ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น กษัตริย์ไทยทรงให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูพุทธศาสนา อันเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมทั้งหลายรวมถึงกฎหมาย เพื่อจัดระเบียบสังคมไทย ส่งผลให้ข้อคิดทางพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อกฎหมายอาญาในกฎหมายตราสามดวงด้วย ต่อมาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา การแผ่ขยายอิทธิพลของมหาอำนาจของชาติตะวันตกเริ่มรุกรานเข้ามาบริเวณเอเชียอาคเนย์ เพื่อไม่ให้ชาติตะวันตกเข้ายึดครองประเทศไทย จึงต้องปฏิรูปกฎหมายให้สอดคล้องกับตะวันตก โดยจัดทำกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ขึ้น เป็นเหตุให้กฎหมายอาญาในขณะนั้นได้รับอิทธิพลจากข้อคิดทางพุทธศาสนาน้อยลง และต่อมามีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้น ซึ่งยังคงหลักการและแนวคิดเดิม โดยแก้ไขเพิ่มเติม ปรับปรุงให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงระดับของอิทธิพลความคิดทางพุทธศาสนาต่อการกำหนดความผิดอาญาในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ เกิดขึ้นจากปัจจัยทางสังคมที่ก่อให้เกิดความแตกต่างหลายประการ ฉะนั้น หากจะพิจารณาประเด็นอิทธิพลของข้อคิดทางพุทธศาสนาต่อกฎหมายอาญาที่จะตราขึ้นใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกในอนาคตให้สอดคล้องกับสภาพสังคมขณะตรากฎหมาย ผู้ศึกษาเสนอให้พิจารณาในมิติต่าง ๆ ตามปัจจัยทางสังคมที่ผู้ศึกษาได้เสนอไว้