Abstract:
กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยมีการกำหนดข้อยกเว้นสำหรับกรณีหน่วยงานของรัฐ
ไว้ในมาตรา 4 (2) โดยพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ได้มีการขยายขอบเขตจากกฎหมายฉบับเดิม
ให้ครอบคลุมทั้งการกระทำของรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ และระบุการกระทำที่ได้รับยกเว้นเฉพาะในส่วนที่ดำเนินการตามกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค แต่เนื่องด้วยลักษณะการบัญญัติถ้อยคำ
ในลักษณะกว้าง ๆ และยังไม่ปรากฏถึงการกำหนดแนวทางหรือแนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับขอบเขตการบังคับใช้ตามกฎหมายทำให้อาจเกิดปัญหาในการตีความว่าการกระทำของหน่วยงานประเภทใดหรือการกระทำใดบ้างที่ได้รับการยกเว้น
ไม่ให้ตกอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย ส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจในตลาด จึงควรมีแนวทางในการบังคับใช้มาตรา 4(2) แห่งพระราชบัญญัติ
การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อไป
จากการศึกษาพบว่า บทบัญญัติตามมาตรา 4 (2) มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดว่าด้วยบทบาทของรัฐและ
การแข่งขันในตลาด และหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงเห็นว่าการกระทำที่มีอำนาจรัฐ
และมีการใช้อำนาจรัฐ (หลัก Government Authority Approach) โดยได้รับมอบหมายตามกฎหมายและ
มติคณะรัฐมนตรีเป็นเกณฑ์การพิจารณาหน่วยงานและการกระทำที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 4 (2) และผู้ที่กล่าวอ้าง
ข้อยกเว้นมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ตามหลักความได้สัดส่วน (Principle of proportionality) เพื่อบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำ
ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งตามแนวทางนี้แม้จะมีข้อจำกัดจากการที่ต้องพิจารณาตามลักษณะของการกระทำ
ของหน่วยงานเป็นรายกรณีและไม่สามารถระบุรายชื่อหน่วยงานที่ชัดเจนแน่นอนได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นไปโดยสอดคล้อง
กับวัตถุประสงค์ของการกำหนดบทบัญญัติมาตรา 4 (2) แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่ได้รับ
อิทธิพลจากกฎหมายการแข่งขันต่างประเทศในเรื่องนโยบายแข่งขันของรัฐ โดยเป็นหลักการสากลที่จะยกเว้นเฉพาะ
การกระทำที่เป็นการดำเนินการตามกฎหมายหรือคำสั่งของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่ผู้ประกอบธุรกิจ
ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม