Abstract:
แม้ประเทศไทยจะมีระบบเยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ แต่การช่วยเหลือจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเพียงลำพัง ไม่สามารถเยียวยาความเสียหายได้ทั้งหมด ส่งผลให้เมื่อเกิดความผิดพลาดทางการแพทย์ขึ้นในโรงพยาบาลเอกชน ผู้ได้รับความเสียหายจึงเลือกที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากโรงพยาบาลเอกชนและแพทย์
ซึ่งผู้เขียนพบประเด็นปัญหาที่ควรศึกษาหลายประเด็น ได้แก่ ปัญหาความรับผิดของโรงพยาบาลเอกชนเพื่อการกระทำละเมิดของแพทย์ ปัญหาสิทธิไล่เบี้ยของโรงพยาบาลเอกชนที่มีต่อแพทย์ผู้ทำละเมิด และปัญหาการให้ความยินยอมเพื่อรักษาพยาบาล
โดยผู้เขียนจะวิเคราะห์จากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา อันจะนํามาซึ่งการพัฒนาระบบการแพทย์ของไทยต่อไป
จากการศึกษา ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดความรับผิดทางการแพทย์ไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น
การพิจารณาความรับผิดทางแพ่งของโรงพยาบาลเอกชนและแพทย์ต่อผู้ป่วย จึงต้องอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้ โดยโรงพยาบาลเอกชนในฐานะนายจ้างหรือตัวการอาจต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งแพทย์ได้กระทำต่อผู้ป่วย ทั้งนี้ เมื่อโรงพยาบาลเอกชนได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ป่วยไปแล้ว โรงพยาบาลเอกชนก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากแพทย์ได้เต็มจำนวนในภายหลัง ส่งผลให้แพทย์ต้องรับผิดเป็นจำนวนที่สูงกว่าความผิดหรือความรับผิดที่แท้จริง ในขณะที่ประเทศอังกฤษ หากโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นนายจ้างหรือตัวการมีส่วนผิด โรงพยาบาลเอกชนจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเต็มจำนวนไม่ได้ คงมีสิทธิเพียงที่จะฟ้องเรียกให้แพทย์ชดใช้ตามส่วนแห่งความผิดเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้เขียนยังพบปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดของนิติบุคคลและการใช้มาตรา 427 กรณีของตัวแทนเชิด ซึ่งกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศอิตาลี เมื่อพบปัญหาการนำบทกฎหมายทั่วไปมาปรับใช้กับคดีทางการแพทย์ ก็เริ่มวางกฎเกณฑ์กำหนดความรับผิดทางการแพทย์และพัฒนาระบบประกันภัยความรับผิดทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความเสียหายมากยิ่งขึ้น
ผู้เขียนจึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการบัญญัติกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับความรับผิดทางการแพทย์ โดยระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะและต้องปรับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้เขียนขอเสนอให้การไล่เบี้ยควรเฉลี่ยความรับผิดของโรงพยาบาลเอกชนและแพทย์ในลักษณะเดียวกับกรณีผู้เสียหายมีส่วนผิดตามมาตรา 223 และหากเป็นกรณีที่ละเมิดเกิดจากความบกพร่องของแพทย์ โรงพยาบาลเอกชนไม่ควรไล่เบี้ยแพทย์ได้เต็มจำนวนในฐานคิดเดียวกันกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 นอกจากนี้ยังเสนอให้มีพิจารณานิติสัมพันธ์ระหว่างโรงพยาบาลเอกชนและแพทย์ตามหลักผู้แทนนิติบุคคล การจัดตั้งระบบกองทุนเพื่อเยียวยาความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ รวมถึงเสนอให้โรงพยาบาลเอกชนสมัครประกันภัยทางวิชาชีพให้แก่แพทย์