Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง มาตรการแทนการลงโทษอาญากรณีความผิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องแต่งกายที่กฎหมายคุ้มครอง มีวัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมมาใช้แทนโทษทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องแต่งกายที่กฎหมายคุ้มครอง
ผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการใช้เครื่องแต่งกายที่กฎหมายคุ้มครองอยู่เป็นจำนวนมาก และกำหนดให้การกระทำดังกล่าวมีโทษทางอาญา ซึ่งไม่เหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิดเนื่องจากเจตนาของผู้กระทำความผิดสามารถแบ่งได้เป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีกระทำเพราะความชื่นชอบส่วนบุคคล กรณีกระทำเพราะต้องการภาพลักษณ์และอำนาจที่มาจากเครื่องแต่งกาย และกรณีกระทำเพื่อเพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถกระทำความผิดอื่นง่ายขึ้น ถึงแม้การกระทำความผิดดังกล่าวมีเจตนาแตกต่างกัน แต่กลับใช้บทบัญญัติของกฎหมายเดียวกันมาใช้บังคับ ดังนั้น จึงควรนำพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่มีการกำหนดความผิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องแต่งกายที่กฎหมายคุ้มครองมาบัญญัติไว้ในบัญชี 1 ท้าย (ร่าง) พระราชบัญญัติการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... เพื่อให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่า การกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องแต่งกายที่กฎหมายคุ้มครองนั้น เป็นการกระทำในลักษณะใด หากเป็นการการกระทำความผิดเพราะความชื่นชอบส่วนบุคคล หรือต้องการภาพลักษณ์หรืออำนาจที่มาจากเครื่องแต่งกาย ให้ศาลมีอำนาจนำการปรับเป็นพินัยมาใช้แทนโทษทางอาญา และถืออัตราโทษปรับทางอาญาที่กำหนดเป็นอัตราค่าปรับเป็นพินัยตาม (ร่าง) พระราชบัญญัติการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... เว้นแต่กระทำความผิดซ้ำในเรื่องเดียวกันภายในระยะเวลา 3 ปี ให้เป็นข้อยกเว้นมิให้นำการปรับเป็นพินัยมาใช้บังคับกับการกระทำความผิดตั้งแต่ครั้งที่สองเป็นต้นไป และหากเป็นกรณีกระทำความผิดเพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถกระทำความผิดอื่นง่ายขึ้น ให้ศาลบังคับใช้โทษทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้นไปตามเดิม เพื่อให้การกำหนดโทษในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้เครื่องแต่งกายที่กฎหมายคุ้มครองมีความเหมาะสมกับลักษณะของการกระทำความผิดมากยิ่งขึ้น