Abstract:
เครื่องหมายการค้าแบบสัมผัส เป็นหนึ่งในเครื่องหมายการค้ารูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจและได้รับการคุ้มครองในหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา และประเทศรัสเซีย อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าของประเทศไทย ได้แก่ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 กลับพบว่าพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังไม่ได้มีการให้ความคุ้มครองแก่เครื่องหมายการค้าแบบสัมผัสแต่อย่างใด เพื่อประโยชน์ในการเสนอแนะแนวทางการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าแบบสัมผัสที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ผู้เขียนได้ทำการศึกษาค้นคว้าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง คำพิพากษาของศาล ความเห็นของนักกฎหมาย ตลอดจนคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ของประเทศที่ได้มีการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าแบบ ได้แก่ ประเทศแคนาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศรัสเซีย และประเทศออสเตรเลีย นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ดำเนินการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทนายความจากสำนักงานกฎหมาย ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้บริโภค เพื่อนำความคิดเห็นของบุคคลดังกล่าวมาวิเคราะห์และพิจารณาประกอบกัน ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ในบางมาตรา และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการที่จำเป็นบางประการ เพื่อให้เครื่องหมายการค้าแบบสัมผัสได้รับการคุ้มครองในประเทศไทยอย่างเหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริโภค และสังคมโดยรวม