Abstract:
การนำบทบัญญัติการรอนสิทธิในเรื่องซื้อขายมาใช้กับเรื่องเช่าทรัพย์โดยอนุโลม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 549 ยังไม่ชัดเจนและพบปัญหาบางประการ กล่าวคือ การปรับใช้มาตรา 475 และ 479 ตามแนวคำพิพากษาฎีกายังไม่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เมื่อต้องนำมาใช้กับเรื่องเช่าทรัพย์จึงเกิดปัญหาความไม่ชัดเจนถึงสถานะของการรอนสิทธิและขอบเขตการปรับใช้ อีกทั้ง พบแนวคำพิพากษาฎีกาจำนวนมากปรับใช้มาตรา 477 กับเรื่องเช่าทรัพย์ ในลักษณะให้ผู้เช่าที่ไม่อาจเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่า สามารถฟ้องคดีบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีนิติสัมพันธ์กับตนได้หากเรียกผู้ให้เช่าเข้าเป็นโจทก์ร่วม ซึ่งไม่สอดคล้องกับฐานของกฎหมายที่ผู้เช่าอาจเรียกให้ผู้ให้เช่ารับผิดต่อตนได้เท่านั้น ลักษณะของสัญญาเช่าทรัพย์ รวมถึงหลักการทางกฎหมาย อาทิ ความเป็นบุคคลสิทธิและทรัพยสิทธิ นิติวิธี และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
หากพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันและฝรั่งเศส จะเห็นว่า ต่างบัญญัติการรอนสิทธิในเรื่องซื้อขายและเช่าทรัพย์แยกจากกัน โดยไม่ปรากฏการนำมาใช้ร่วมกัน อีกทั้ง ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ซึ่งใช้ระบบสัญญาเดียวดังเช่นกฎหมายไทย ยังบัญญัติการดำเนินคดีในการเรียกผู้ขายหรือผู้ให้เช่าเข้าเป็นโจทก์ร่วมไว้แยกจากกัน สอดคล้องกับธรรมชาติของสัญญาและฐานกฎหมายที่ผู้ซื้อหรือผู้เช่าอาจใช้ฟ้องคดี โดยในเรื่องซื้อขาย ผู้ซื้อมีฐานของกฎหมายกรรมสิทธิ์และละเมิดในการฟ้องคดีบุคคลภายนอก จึงสามารถเรียกให้ผู้ขายเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีของตนได้ ในทางกลับกัน สัญญาเช่าทรัพย์ ผู้เช่ามิได้มีฐานของกฎหมายใดในการเรียกร้องจากบุคคลภายนอก จึงไม่อาจฟ้องคดีบุคคลภายนอกโดยขอให้เรียกผู้ให้เช่าเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้
จากการศึกษาปัญหาดังกล่าวในระบบกฎหมายไทยและต่างประเทศ ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะว่า มาตรา 475 ควรปรับใช้ร่วมกับมาตรา 479 ภายในขอบเขตลักษณะตามธรรมชาติของการเช่าทรัพย์ และควรเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่ใช้กับการรอนสิทธิในสัญญาเช่าทรัพย์เป็นการเฉพาะในมาตรา 549/1 ความว่า “เมื่อใดการรบกวนขัดสิทธินั้นเกิดเป็นคดีที่บุคคลภายนอกฟ้องผู้เช่า ผู้เช่าชอบที่จะขอให้ศาลเรียกผู้ให้เช่าเข้าเป็นจำเลยร่วมกับผู้เช่าในคดีนั้นได้ เพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน” ทั้งนี้ หากผู้เช่าจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการรอนสิทธิย่อมต้องฟ้องผู้ให้เช่าซึ่งเป็นคู่สัญญาของตนเท่านั้น อย่างไรก็ดี หากการเพิ่มเติมบทบัญญัติเกิดขึ้นได้ยาก ผู้เขียนเสนอให้ปรับเปลี่ยนการใช้และการตีความ คำว่า “อนุโลมความตามควร” ตามมาตรา 549 ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันตามหลักนิติวิธีที่ถูกต้อง สอดคล้องกับลักษณะของสัญญาเช่าทรัพย์ ความเป็นบุคคลสิทธิและทรัพยสิทธิ และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พร้อมทั้งเพิ่มเติมคำอธิบายรวมถึงข้อสังเกตเรื่องนี้ในตำรากฎหมาย