Abstract:
ข้อตกลงการจ้างแรงงานระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ เป็นพฤติกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกจ้างผู้ประกอบธุรกิจและจำกัดการแข่งขันทางการค้า จึงเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่ตกอยู่ภายใต้มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่า มาตรา 54 ยังมีความไม่ชัดเจนว่าสามารถนำไปปรับใช้กับข้อตกลงการจ้างแรงงานระหว่างผู้ประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 5 กำหนดนิยามของคำว่า บริการ ไม่รวมถึงการจ้างแรงงาน และมาตรา 54 ได้กำหนดประเภทของการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในตลาดเพียงบางลักษณะเท่านั้น ประกอบกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยยังไม่มีแนวปฏิบัติและหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมข้อตกลงการจ้างแรงงานระหว่างผู้ประกอบธุรกิจซึ่งแตกต่างไปจากกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของต่างประเทศที่มีแนวทางและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการพิจารณาพฤติกรรมดังกล่าว
ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงทำการศึกษาบทบัญญัติของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า แนวปฏิบัติ คำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 และแก้ไขเพิ่มเติมแนวปฏิบัติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้เกี่ยวข้อง ทราบว่าข้อตกลงการจ้างแรงงานระหว่างผู้ประกอบธุรกิจลักษณะใดเป็นความผิดหรือไม่เป็นความผิดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย