Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มุ่งศึกษาหลักกฎหมายเกี่ยวกับการบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมาตรา 19 ได้บัญญัติให้บุคคลพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ และมาตรา 20 ซึ่งกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะก่อนมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์ เมื่อผู้เยาว์ทำการสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อชายและหญิงผู้เยาว์มีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์โดยได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือเมื่อบุคคลที่มีอายุต่ำว่าสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ที่ทำการสมรสหลังจากได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสได้ แล้วแต่กรณี ซึ่งเกี่ยวโยงกับบทบัญญัติในบรรพ 5 ว่าด้วยการหมั้นและการสมรส
ทั้งนี้ การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์หรือโดยการสมรสที่บัญญัติไว้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีที่แล้ว อาจไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้เยาว์ในปัจจุบัน เนื่องจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประเทศราชอาณาจักรไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษากฎหมายในเรื่องดังกล่าววิเคราะห์เปรียบเทียบกับหลักกฎหมายในประเด็นเดียวกันของต่างประเทศ ทั้งที่ใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์และระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มประเทศที่มีระบบอนุญาตให้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะก่อนเกณฑ์อายุโดยคำสั่งศาลหรือโดยข้อเท็จจริง คือ ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส ประเทศราชอาณาจักรสเปน ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐแคลิฟอร์เนีย และประเทศแคนาดา รัฐควิเบก และ (2) กลุ่มประเทศที่ไม่มีหรือเคยมีระบบอนุญาตให้ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะก่อนเกณฑ์อายุโดยคำสั่งศาลหรือโดยข้อเท็จจริง คือ ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศสหราชอาณาจักร อังกฤษ และประเทศสมาพันธรัฐสวิส
จากผลการศึกษา เห็นควรให้มีการปรับปรุงแก้ไขหลักกฎหมายในเรื่องดังกล่าว โดยประการแรกให้ลดเกณฑ์อายุในการบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์จากเดิมที่กำหนดไว้เมื่ออายุยี่สิบปีบริบูรณ์เป็นสิบแปดปีบริบูรณ์ ประการที่สอง ควรแก้ไขเกณฑ์อายุในการสมรสของผู้เยาว์เป็นสิบหกปีบริบูรณ์ จากที่กำหนดเกณฑ์อายุไว้ที่สิบเจ็ดปีตามมาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประการสุดท้าย ควรเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการบรรลุนิติภาวะโดยคำสั่งศาลในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้ผู้เยาว์ที่มีศักยภาพได้รับประโยชน์จากการใช้ความสามารถทางแพ่งได้อย่างเต็มที่และเร็วขึ้น