Abstract:
การสมรสเป็นจุดเริ่มต้นของนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานะบุคคล มิได้มุ่ง โดยตรงไปทางการเคลื่อนสิทธิในทางทรัพย์สิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบต่อกัน โดยผลของกฎหมายลักษณะครอบครัวในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ในเรื่องการสมรสกับนิติกรรมนั้นนักกฎหมายในปัจจุบันยังมีความเห็นแตกต่างกัน ดังนั้น จึงเกิดประเด็นให้ต้องพิจารณาถึงลักษณะของการสมรสว่าเป็นเป็นนิติกรรมหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวนำไปสู่การพิจารณาต่อมาว่าสามารถนำบทบัญญัติในบรรพ 1 ว่าด้วยหลักทั่วไปมาปรับใช้กับบทบัญญัติในเรื่องการสมรสตามบรรพ 5 ได้หรือไม่ ทั้งนี้ มาตรา 1457 กำหนดให้ การสมรสตามกฎหมายจะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น ดังนั้นจึงเกิดประเด็นว่าสถานะของการจด ทะเบียนสมรสนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศสแล้วมี ความแตกต่างจากของประเทศไทยหรือไม่ จากการศึกษาลักษณะของการสมรส ผู้เขียนมีความเห็นว่า การสมรสนั้นเป็นกรณีที่ชายหญิงแสดงเจตนา ยินยอมผูกพันตนตามกฎหมาย มุ่งโดยตรงต่อการก่อสถานภาพบุคคลในอีกฐานะหนึ่ง การสมรสจึงมีลักษณะเป็น นิติกรรมก่อสถานะบุคคลที่มีลักษณะแตกต่างจากนิติกรรมในบทกฎหมายอื่น ดังนั้นเมื่อพิจารณาหลักทั่วไป เรื่อง นิติกรรมตามบรรพ 1 แล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่า กฎหมายกำหนดเรื่องการสมรสตั้งแต่การก่อให้เกิดการสมรส เงื่อนไขของการสมรส รวมไปถึงผลของการไม่ปฏิบัติตามการสมรสไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำบทบัญญัติ ในเรื่องนิติกรรมตามบรรพ 1 มาปรับใช้กับการสมรสซึ่งเป็นนิติกรรมเกี่ยวกับการก่อสถานะบุคคลในบรรพ 5 ได้ นอกจากนี้ กฎหมายกำหนดให้การสมรสต้องมีการจดทะเบียนสมรส โดยการจดทะเบียนสมรสเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ รัฐต้องการควบคุมความมีอยู่ของการสมรสตามกฎหมายและให้มีความสอดคล้องกับระบบของการสมรสตามหลัก ผัวเดียวเมียเดียว การจดทะเบียนสมรสจึงมีลักษณะเป็นแบบแห่งความมีอยู่ของการสมรส อันเป็นแบบแห่งนิติกรรมประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานะของการจดทะเบียนสมรส เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส พบว่ากฎหมายการสมรสของทั้งสาม ประเทศรวมถึงประเทศไทยกำหนดให้มีการจดทะเบียนสมรส แต่ลักษณะของการจดทะเบียนสมรสในบางประเทศ มีความแตกต่างจากประเทศไทย ดังนั้นจากการศึกษา ผู้เขียนจึงได้เสนอให้มีการตีความและการปรับใช้กฎหมายโดยบทบัญญัติของ กฎหมายในบรรพ 1 ไม่สามารถนำมาใช้กับการสมรสในบรรพ 5 และเสนอให้มีการกำหนดผลของการไม่ปฏิบัติตาม ขั้นตอนของการจดทะเบียนสมรสมาใช้ เพื่อให้การตีความและปรับใช้กฎหมายมีความชัดเจนและมีแนวทางในการตัดสินปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าควรตัดสินไปในทิศทางใดเพื่อคุ้มครองความสัมพันธ์ทางครอบครัวที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด