Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ถึงปัญหาของการนำโทษทางอาญามาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคารวมทั้งศึกษาและแสวงหามาตรการอื่นที่เหมาะสมเพื่อควบคุมราคาของสลากกินแบ่งรัฐบาลในประเทศไทยแทนการใช้โทษทางอาญา จากการศึกษาพบว่าปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาในประเทศไทยเกิดจากโครงสร้างและระบบการจัดจำหน่ายสลากที่มีการส่งต่อสลากผ่านพ่อค้าคนกลางเป็นทอดจนเกิดต้นทุนส่วนเกินมาถึงผู้ค้าปลีกสลากซึ่งส่งผลให้มีความจำเป็นต้องจำหน่ายสลากแก่ผู้บริโภคเกินราคา ซึ่งการที่รัฐใช้วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการกำหนดให้การจำหน่ายสลากเกินราคาเป็นความผิดอาญาจะเห็นได้ว่านอกจากจะไม่สอดคล้องต่อสภาพการณ์ของอาชีพผู้ค้าปลีกที่ต้องรับต้นทุนส่วนเกินมาจากพ่อค้าคนกลางแล้วการลงโทษบุคคลเหล่านั้นก็ไม่สอดคล้องต่อวัตถุประสงค์ในการลงโทษในทางอาญาเพราะแม้จะมีการจับกุมผู้ค้าปลีกรายย่อยอยู่เสมอแต่ก็ยังไม่สามารถยับยั้งการกระทำความผิดได้สำเร็จ สุดท้ายรัฐพึงต้องหามาตรการอื่นๆมาใช้ควบคู่กับโทษทางอาญาอยู่ดี อนึ่ง การมีความรับผิดทางอาญาในเรื่องนี้จึงสะท้อนถึงปัญหากฎหมายอาญาเฟ้อ จากการศึกษามาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาในต่างประเทศพบว่าโครงสร้างขององค์กรและวิธีการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ละที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามในเรื่องของการรักษาราคาสลาก กินแบ่งรัฐบาลให้ตามกำหนดในต่างประเทศพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้มาตรการทางอาญาลงโทษแก่ผู้ค้าปลีกสลากกินแบ่งแต่จะออกมาตรการอื่นเพื่อควบคุมไม่ให้การจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นเกินราคา ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ผู้วิจัยจึงเสนอแนะให้มีการยกเลิกความผิดอาญาของการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาแล้วใช้มาตรการอื่นทดแทนโทษทางอาญาซึ่งการใช้มาตรการทดแทนดังกล่าวนั้นจะต้องควบคู่ไปกับการแก้ไขโครงสร้างการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและปรับปรุงผลิตภัณฑ์สลากที่สามารถป้องกันการถูกนำสลากไปขายเกินราคารวมถึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนภายใต้การคำนึงถึง กรอบทางศีลธรรมที่ต้องระวังไม่ให้เกิดการมอมเมาประชาชนจนเสพติดการพนันอันจะส่งผลกระทบต่อสังคมได้