Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสภาพปัญหาของอายุความตามกฎหมายอาญาในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิด โดยศึกษาถึงแนวคิดและหลักการกำหนดอายุความในคดีอาญา ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอายุความในคดีอาญาที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายตามกฎหมายอาญาของไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในการปรับปรุงบทบัญญัติเรื่องอายุความในคดีอาญาที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหาย ปัญหาอายุความตามกฎหมายอาญาในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายเป็นผลมาจากบทบัญญัติเรื่องความสามารถที่กำหนดให้ผู้เยาว์เป็นบุคคลที่บกพร่องด้านความสามารถ ทำให้ผู้เยาว์ที่เป็นผู้เสียหายถูกจำกัดสิทธิในการฟ้องคดีอาญาด้วยตนเอง ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนเฉพาะคดีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เยาว์จึงต้องเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาโดยอาจไม่ได้ดำเนินการตามความประสงค์ของผู้เยาว์เนื่องจากความบกพร่องของผู้แทนโดยชอบธรรม หรืออาจเกิดกรณีที่ผู้เยาว์นั้นด้อยประสบการณ์ ไม่ทราบว่าตนเองเป็นผู้เสียหายจนกระทั่งคดีขาดอายุความและไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้อีก จากการศึกษาพบว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาอายุความตามกฎหมายอาญาในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายที่ประเทศต่างๆเลือกใช้และเป็นแนวทางที่สมควรนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาอายุความตามกฎหมายอาญาในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญาคือ การขยายอายุความในคดีอาญาที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหาย โดยให้เริ่มนับอายุความเมื่อผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะในความผิดบางฐานที่กระทบต่อผู้เยาว์อย่างร้ายแรง เนื่องจากแนวทางดังกล่าวเป็นการขยายระยะเวลาให้ผู้เยาว์ฟ้องร้องคดีอาญาด้วยตนเองเมื่อมีวุฒิภาวะสมบูรณ์ พ้นจากการพึ่งพาหรือเลี้ยงดูโดยบุคคลอื่น และเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในการฟ้องร้องคดีเองให้แก่ผู้เยาว์ด้วย ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาอายุความตามกฎหมายอาญาในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายที่ผู้เขียนเสนอจึงเป็นการขยายอายุความในคดีอาญาที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหาย โดยให้เริ่มนับอายุความเมื่อผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะในความผิดบางฐานที่กระทบต่อผู้เยาว์อย่างร้ายแรง ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาคดีที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายขาดอายุความตามกฎหมายอาญาซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟ้องร้องคดีด้วยตนเองของผู้เยาว์ในอนาคต