Abstract:
เนื่องด้วยบทบัญญัติในเรื่องดอกผลธรรมดานั้นมีลักษณะของการบัญญัติกฎหมายที่ยังคงไม่มีความชัดเจนทั้งในส่วนของการให้คำนิยาม และบทบัญญัติในเรื่องการได้มา ประกอบกับดอกผลที่ยังติดกับแม่ทรัพย์นั้น ยังไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทั้งที่บทบัญญัติในเรื่องดอกผลนั้นบัญญัติไว้ในบรรพ 1 เป็นหลักทั่วไปที่สามารถนำไปใช้กับกฎหมายในบรรพอื่นๆได้ และยังสามารถนำไปใช้กับกฎหมายสาขาอื่นได้ด้วย โดยวิทยานิพนธ์เรื่องนี้มุ่งศึกษาวิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับดอกผลในระบบกฎหมายไทย โดยศึกษากฎหมายเยอรมัน กฎหมายญี่ปุ่น และกฎหมายอิตาลี เป็นตัวอย่างด้วย
ผลของการศึกษาพบว่า บทบัญญัติในเรื่องดอกผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสองนั้น มีลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายในเรื่องทรัพย์ จากการที่กฎหมายบัญญัติใช้คำว่า ดอกผลธรรมดา เนื่องจากบทบัญญัติในเรื่องดอกผลนั้นเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในลักษณะ 3 เรื่องทรัพย์ ดังนั้น ดอกผลธรรมดาจึงควรที่จะมีความสอดคล้องกับทรัพย์ ซึ่งทรัพย์หมายถึง วัตถุที่มีรูปร่าง ด้วยเหตุนี้ การใช้คำว่า “ดอกผลของทรัพย์”จะสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจได้ว่า ดอกผล คือ สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากวัตถุที่มีรูปร่าง ซึ่งจะสามารถสร้างความเข้าใจได้ดีกว่าการใช้คำว่า ดอกผลธรรมดา นอกจากนี้การที่กฎหมายบัญญัติหลักเกณฑ์ทางกฎหมายของดอกผลนั้นสามารถถือเอาได้เมื่อได้แยกออกจากแม่ทรัพย์โดยรวมไว้กับลักษณะของความเป็นดอกผล ย่อมเป็นกรณีที่ทำให้ลักษณะการได้มาซึ่งดอกผลธรรมดานั้นไม่มีความเด่นชัด ซึ่งเมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น และประมวลกฎหมายแพ่งอิตาลีแล้วย่อมจะเห็นได้ว่า การได้มาซึ่งดอกผลนั้นเป็นบทบัญญัติที่ได้บัญญัติไว้เป็นมาตราเฉพาะ ซึ่งจะก่อให้เกิดความชัดเจนให้กับลักษณะของดอกผลมากกว่า และนอกจากนี้ การที่ดอกผลธรรมดายังติดอยู่กับแม่ทรัพย์ ย่อมที่จะส่งผลให้ดอกผลนั้นไม่มีลักษณะของการเป็นทรัพย์ได้ตามกฎหมาย เพราะการที่จะเป็นทรัพย์ได้ตามกฎหมายนั้นนอกจากจะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างแล้ว ยังต้องเป็นสิ่งที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองโดยอิสระด้วย ด้วยเหตุนี้ จากสถานะทางกฎหมายดังกล่าวของดอกผล จึงย่อมอาจส่งผลต่อหลักการทางกฎหมายในเรื่องอื่นๆได้ ไม่ว่าจะเป็น การใช้สิทธิในตัวดอกผลในฐานะสิทธิทางหนี้ตามบรรพ 2 เช่น การเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง หรือการเข้าถือเอาในฐานะลาภมิควรได้ หรือตามสัญญาซื้อขายตามบรรพ 3 และ การใช้สิทธิเหนือตัวดอกผลในฐานะทรัพยสิทธิตามบรรพที่ 4 ในฐานะที่ดอกผลนั้นเป็นบทนิยามที่สามารถนำไปใช้กับกฎหมายในเรื่องอื่นๆได้อย่างเป็นระบบ ผู้เขียนจึงได้เสนอให้มีการแก้ไขบทบัญญัติในส่วนของบทนิยามในเรื่องดอกผลธรรมดา ตามมาตรา 148 วรรคสอง โดยการเปลี่ยนจากคำว่า “ดอกผลธรรมดา” เป็น “ดอกผลของทรัพย์” รวมถึงบัญญัติให้ดอกผลนั้นรวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ด้วย และนอกจากนี้ยังจะได้เสนอให้มีการบัญญัติเรื่องการได้มาซึ่งดอกผลธรรมดาเป็นบทมาตราเฉพาะในมาตรา 148/1 ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายผู้เขียนเสนอให้มีการตีความคำว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ” นั้นให้รวมถึงสิ่งที่ได้เป็นผลมาจากการกระทำโดยฝีมือของมนุษย์ด้วย รวมถึงสร้างการตีความให้ดอกผลนั้นต้องคำนึงถึง “ประโยชน์” ที่จะได้รับจากการเข้าถือเอาดอกผลนั้นประกอบด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าสิ่งที่จะมีลักษณะของการเป็นดอกผลนั้นสามารถเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์แล้วยังต้องเป็นประโยชน์ในการที่จะเข้าถือเอาได้อีกด้วย