Abstract:
ในปัจจุบันได้มีการโอนสิทธิบัตรในทางธุรกิจมากขึ้น โดยเมื่อมีการซื้อขายสิทธิบัตร ผู้ซื้อสิทธิบัตรย่อมจะต้องตรวจสอบเกี่ยวกับสิทธิบัตรที่ตนจะลงทุนซื้อว่ามีความคุ้มค่าที่จะลงทุนโดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าสิทธิบัตรดังกล่าวถูกละเมิดหรือไม่ เพราะการละเมิดสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นก่อนที่จะได้รับโอนสิทธิบัตรมาอาจทำให้ผู้รับโอนที่จะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรคนใหม่ไม่ได้รับผลตอบแทนจากการนำสิทธิบัตรนั้นไปใช้ได้อย่างเต็มที่และเสียโอกาสในทางตลาดในอนาคต ผู้รับโอนก็ย่อมจะต้องการบังคับให้ผู้กระทำละเมิดก่อนที่ตนจะรับโอนสิทธิบัตรระงับการกระทำละเมิดดังกล่าว โดยมีประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาถึงสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนการโอนสิทธิบัตรว่า เมื่อตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522 ได้รับรองให้สิทธิบัตรดังกล่าวสามารถโอนให้แก่กันได้ แต่ไม่ได้มีการกำหนดขอบเขตว่ามีสิทธิใดบ้างที่โอนมายังผู้รับโอนสิทธิบัตร จึงมีประเด็นว่าหนี้มูลละเมิดสิทธิบัตรที่เกิดขึ้นก่อนการโอนสิทธิบัตรนั้นจะโอนมาพร้อมกับการโอนสิทธิบัตรได้หรือไม่ และด้วยวิธีการและผลของกฎหมายใดในระบบกฎหมายไทย และวิธีการดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด กับสิทธิบัตรซึ่งมีลักษณะเฉพาะตามกฎหมายเฉพาะ ผู้เขียนจึงได้ศึกษาพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายต่างประเทศ ได้แก่ กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา กฎหมายของประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ และกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสเพื่อนำมาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว
จากการศึกษาพบว่า สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนการโอนสิทธิบัตรซึ่งถือเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการละเมิดสิทธิบัตรซึ่งเป็นการละเมิดตามกฎหมายเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522 ซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่โอนไปด้วยผลของการโอนสิทธิบัตร หากประสงค์จะโอนจึงจะต้องแสดงเจตนาโอนแยก โดยสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดสิทธิบัตรถือเป็นสิทธิเรียกร้องอันอาจพิจารณาให้โอนได้ตามหลักการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่โอนได้เฉพาะกรณีที่ได้โอนสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนการโอนสิทธิบัตรไปให้แก่ผู้รับโอนที่รับโอนสิทธิบัตรด้วย เนื่องจากสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดสิทธิบัตรถือเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผูกติดกับสถานะของผู้ทรงสิทธิบัตร ผู้รับโอนจึงจะต้องมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรด้วยจึงจะสามารถรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวอันสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตร ซึ่งในกรณีจะต้องพิจารณาให้โอนทั้งสิทธิบัตรที่สมบูรณ์ ด้วยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522 ตามมาตรา 41 ประกอบกับการโอนสิทธิเรียกร้องที่สมบูรณ์ด้วยการทำเป็นหนังสือและจะต้องบอกกล่าวแก่ลูกหนี้หรือลูกหนี้ยินยอมเป็นหนังสือเพื่อยกขึ้นต่อสู้ลูกหนี้เห่งสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 จึงจะถือว่าผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนการโอนสิทธิบัตรจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ในมูลละเมิดดังกล่าวได้ แต่การใช้หลักการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ยังไม่เหมาะสมและเพียงพอกับสภาพปัญหาดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเสนอให้มีการตีความและเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นก่อนการโอนสิทธิบัตร และกำหนดความสมบูรณ์ของการโอนสิทธิบัตรให้ชัดเจนไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ.2522 เพื่อให้มีกฎหมายซึ่งเป็นกลไกในการคุ้มครองสิทธิบัตรให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายสิทธิบัตรและเกิดความเป็นระบบของกฎหมายสิทธิบัตร