Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมา ความหมาย และขอบเขตของการกระทำโดยถือวิสาสะในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ได้แก่ ความผิดฐานลักทรัพย์ ความผิดฐานยักยอก และความผิดฐานบุกรุก แนวคิดและทฤษฎีการตีความกฎหมาย โครงสร้างความรับผิดทางอาญา เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบว่าศาลฎีกาไทยตีความเป็นไปตามแนวทางการตีความของศาลฎีกาต่างประเทศหรือไม่
การกระทำโดยถือวิสาสะคือการกระทำที่ผู้กระทำได้กระทำการบางอย่างโดยพลการเพราะผู้กระทำเข้าใจหรือเชื่อว่าหากเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์รู้จะยินยอมหรืออนุญาตให้กระทำได้ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยมาโดยตลอดว่าการกระทำโดยถือวิสาสะเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปเป็นการกระทำที่ขาดองค์ประกอบภายในส่วนเจตนาพิเศษ จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นแนวคำวินิจฉัยที่สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศอังกฤษ แต่หากพิจารณาตามโครงสร้างความรับผิดทางอาญาจะพบว่าการกระทำโดยถือวิสาสะนั้น หากผู้กระทำได้รับความยินยอมจะทำให้การกระทำนั้นไม่ครบองค์ประกอบความผิด แต่หากความยินยอมไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์ให้ความยินยอมหรืออนุญาต การกระทำนั้นจะเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเป็นเหตุให้ผู้กระทำมีอำนาจกระทำได้ส่งผลให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐาน เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานบุกรุก เป็นต้น โดยผลของมาตรา 62 ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งหากพิจารณาในทางนี้ก็จะไม่ต้องพิจารณาอีกว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกามีแนววินิจฉัยอีกด้วยว่า หากผู้กระทำเอาทรัพย์ไปโดยถือวิสาสะและต่อมาได้เปลี่ยนเจตนาเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนโดยทุจริตก็อาจเข้าข่ายกระทำความผิดฐานยักยอกได้ สอดคล้องกับหลักกฎหมายและการตีความของศาลฎีกาในต่างประเทศ
จึงมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาตามโครงสร้างความรับผิดทางอาญาจะทำให้การวินิจฉัยมีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการปรับปรุงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายต่อไป