Abstract:
พยานบุคคลนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการพิสูจน์ความจริงในคดีอาญา เพราะคำเบิกความของพยานบุคคลถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือที่สุดในคดีอาญา และในคดีอาญานั้น โจทก์จะต้องนำสืบพยานเพื่อให้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริงในระดับที่ปราศจากข้อสงสัยตามสมควร ดังนั้น รัฐจึงต้องป้องกันและปราบปรามไม่ให้เกิดการแทรกแซงการเบิกความของพยานบุคคล อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยนั้น ยังปรากฏปัญหาที่พยานบุคคลนั้นถูกแทรกแซงการเบิกความด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ คุกคาม การให้ประโยชน์ รวมถึงการนำความผิดฐานหมิ่นประมาทมาใช้กดดันพยานบุคคลในระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้พยานบุคคลนั้นเกิดความเกรงกลัวและไม่กล้ามาเบิกความหรือมาเบิกความเท็จในกระบวนการดำเนินคดีอาญา ซึ่งส่งผลให้ผู้กระทำความผิดไม่ได้รับการลงโทษและลอยนวลเป็นภัยสังคมต่อไปในที่สุด ด้วยเหตุดังกล่าว วิทยาพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษามาตรการทางกฎหมายและมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ที่สามารถช่วยให้พยานบุคคลมาเบิกความตรงความจริง โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับมาตรการในต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักการและสภาพปัญหาของประเทศไทย
จากการศึกษาพบว่า วิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพคือประเทศไทยควรบัญญัติความผิดฐานแทรกแซงพยานบุคคลเป็นฐานความผิดเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา และกำหนดให้ความผิดฐานฆ่าและความผิดฐานทำร้ายพยานบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นเหตุฉกรรจ์ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้อย่างเหมาะสม ประกอบกับการกำหนดบทยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาให้แก่พยานบุคคลที่ได้เบิกความโดยสุจริต เพื่อให้พยานบุคคลกล้าเบิกความมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเสนอให้นำมาตรการสนับสนุนอื่นๆ มาปรับใช้ ได้แก่ การกำหนดค่าป่วยการของพยานบุคคลในลักษณะของค่าขาดรายได้หรือค่าเสียโอกาส และการจัดทำคู่มือประชาชนให้แก่พยานบุคคล เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่พยานบุคคลและทำให้พยานบุคคลคุ้นเคยกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญามากยิ่งขึ้น