Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาและความเหมาะสมของเหตุฉกรรจ์ในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย ซึ่งจะได้ศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการกำหนดโทษและการกำหนดเหตุฉกรรจ์ และนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับเหตุฉกรรจ์ในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาของต่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขเพิ่มเติมเหตุฉกรรจ์ในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย
จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่นำมาใช้ในการกำหนดเหตุฉกรรจ์ในความผิดอาญานั้นมีอยู่ด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่ ปัจจัยที่เกี่ยวกับผู้กระทำ ลักษณะการกระทำ พฤติการณ์แวดล้อม มูลเหตุจูงใจ และผู้เสียหาย ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ถูกนำมากำหนดให้เป็นเหตุฉกรรจ์ในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญาของต่างประเทศ อันได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญาของมลรัฐมิชิแกน(สหรัฐอเมริกา) สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในขณะที่เหตุฉกรรจ์ตามประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยตามมาตรา 354 กำหนดจากปัจจัยด้านผู้กระทำเท่านั้น ส่งผลทำให้การลงโทษผู้กระทำความผิดไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน ตลอดจนไม่สอดคล้องกับความร้ายแรงของการกระทำที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจ
ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงขอเสนอให้มีการแก้ไขเหตุฉกรรจ์ในความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 354 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยให้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินและเพิ่มเติมเหตุฉกรรจ์ในกรณีดังต่อไปนี้ การยักยอกที่กระทำโดยลูกจ้าง โดยผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ โดยร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การยักยอกสวัสดิการของลูกจ้าง การยักยอกเพื่อค้ากำไร การยักยอกเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความยากลำบากทางการเงิน การยักยอกที่กระทำต่อผู้เปราะบาง และการยักยอกที่กระทำต่อองค์กรการกุศล