Abstract:
กระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบเร่งรัด (Expedited Arbitration) เป็นรูปแบบหนึ่งของกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่มีลักษณะที่เคร่งครัดทั้งในแง่ของกระบวนการและระยะเวลา โดยมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาที่ถูกตั้งคำถามมากว่าทศวรรษว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการใช้ระยะเวลาที่ยาวนานและมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น แต่ลักษณะของกระบวนการดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาความสอดคล้องกับส่งผลกระทบต่อหลักการพื้นฐานของกระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่ว่าจะเป็นหลักความอิสระของคู่สัญญาและหลักศุภนิติกระบวนซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการขอให้ศาลยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดต่อไป ดังนั้น เพื่อพัฒนากระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบเร่งรัดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงรักษาคุณค่าและหลักการพื้นฐานของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ผู้เขียนจึงมุ่งศึกษาถึงลักษณะของกระบวนการแบบเร่งรัด กระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบเร่งรัดภายใต้กฎข้อบังคับของสถาบันอนุญาโตตุลาการและองค์การระหว่างประเทศ และวิเคราะห์ความสอดคล้องของข้อบังคับกับหลักการพื้นฐานของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เพื่อเสนอแนะแนวทางในการนำกระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบเร่งรัดมาใช้ในประเทศไทย โดยรักษาความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพของกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับการเคารพหลักการพื้นฐานของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
จากการศึกษาพบว่า โดยภาพรวมแล้วกระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบเร่งรัด เป็นกระบวนการอนุญาโตตุลาการในรูปแบบหนึ่งที่คู่พิพาทต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด มีการพิจารณาเฉพาะพยานเอกสาร และมีระยะเวลาที่สั้นกระชับกว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบปกติซึ่งทำให้การระงับข้อพิพาทรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น กระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบเร่งรัดสามารถได้รับการพัฒนาให้มีความสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของกระบวนการอนุญาโตตุลาการอันสะท้อนอยู่ในกฎหมายแม่แบบว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการทางพาณิชย์ระหว่างประเทศ ค.ศ. 2006 และอนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ค.ศ. 1958 รวมถึงพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ได้ ผู้เขียนเห็นว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบเร่งรัด สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการอนุุญาโตตุลาการและในขณะเดียวกันก็รักษาหลักพื้นฐานของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ นอกจากนี้กระบวนการดังกล่าวยังมีประโยชน์ในด้านการส่งเสริมให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น จึงเสนอแนวทางของกระบวนการอนุญาโตตุลาการแบบเร่งรัดที่เหมาะสมกับประเทศไทย