Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขอบเขตของคำว่า “ต่อหน้าธารกำนัล” ในประมวลกฎหมายอาญา ผู้วิจัยมุ่งศึกษาทฤษฎีการตีความกฎหมาย ที่มาของการบัญญัติฐานความผิดต่อหน้าธารกำนัล และบทบัญญัติในกฎหมายต่างประเทศ เพื่อกำหนดขอบเขตของคำว่า “ต่อหน้าธารกำนัล” และนำเสนอแนวทางการพัฒนาฐานความผิดต่อหน้าธารกำนัลให้เหมาะสมกับบริบทของถ้อยคำและถูกต้องตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย สืบเนื่องจากศาลตีความคำว่า “ต่อหน้าธารกำนัล” หมายความรวมถึง การกระทำในลักษณะที่เปิดเผยให้บุคคลอื่นสามารถเห็นการกระทำได้ ทำให้กรณีที่ความผิดเกิดในที่สาธารณะแต่ไม่มีพยานรับรู้เหตุการณ์ถือว่าความผิดเกิดต่อหน้าธารกำนัลด้วย กรณีนี้เป็นการตีความแบบขยายความจนเทียบเคียงบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งซึ่งไม่อาจกระทำได้ในการตีความกฎหมายอาญา และเมื่อการตีความกฎหมายอาญาใช้หลักการตีความตามตัวอักษรประกอบการตีความตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย การจะหยั่งทราบความหมายของถ้อยคำจึงอาศัยความหมายตามหลักอักษรศาสตร์เข้ามาพิจารณาด้วย คำว่า “ต่อหน้าธารกำนัล” มีความหมายตามตัวอักษรว่า ต่อหน้าที่ประชุมหรือคนจำนวนมาก โดยมีพยานรับรู้เหตุการณ์ เทียบเคียงความหมายจากการประชุมในท้องพระโรงอันเป็นสถานที่ซึ่งต้องสำรวม การประพฤติตนจึงเป็นที่รับรู้ร่วมกันทั้งหมด เมื่อไม่มีบทนิยามการตีความคำว่า “ต่อหน้าธารกำนัล” ที่เหมาะสมจึงต้องพิจารณาจากหลักบุคคลว่ามีกลุ่มบุคคลรับรู้เหตุการณ์ ซึ่งควรมีจำนวนมากกว่าสองคนตามความหมายของที่ประชุมหรือคนจำนวนมาก ดังนั้น วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงเสนอแนะให้มีการบัญญัตินิยามคำว่า “ต่อหน้าธารกำนัล” หมายความว่า ภายใต้ความรับรู้ของที่ประชุมหรือคนจำนวนมาก บุคคลเหล่านั้นรับรู้และสามารถยืนยันเหตุการณ์ขณะความผิดเกิดได้ และปรับปรุงมาตรา 281 และมาตรา 388 ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติและกลมกลืนกับกฎหมายต่างประเทศในระดับสากล