Abstract:
จำนวนผู้มาใช้บริการทางการแพทย์ทุกระดับขั้นและทุกประเภทในโรงพยาบาล มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในแผนกผู้ป่วยนอก ที่มีผู้มาใช้บริการในแต่ละวันสูงถึง 12,000 คน และ 2,000,000-3,000,000 คนต่อปี (ICT.MOPH, 2562) และมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดปัญหาประสิทธิภาพในการสื่อสารข้อมูลที่ดีในการใช้บริการ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการใช้และให้บริการล่าช้าและปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาความแออัดของการใช้บริการ นำไปสู่ปัญหาการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรครุนแรง เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน
การกำหนดยุทธศาสตร์สุขภาพกระทรวงสาธารณสุขที่มีความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในด้านสาธารณสุข กำหนดให้การบริการทางการแพทย์ (Service Excellence) เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความเป็นเลิศทางสาธารณสุขของประเทศ (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2562) กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน สถาบันวิจัยรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ได้มีความพยายามในการแก้ปัญหานี้ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในแนวทาง “smart hospital” เช่นการใช้ ตู้ดิจิทัล (digital kiosks) หรือการ ใช้แอปพลิเคชั่นของโรงพยาบาล เพื่อช่วยในการบริหารจัดการการนัดหมาย การเช็คอินเข้าตรวจ การชำระค่าบริการ ค่ายา และอื่น ๆ เช่น แอปพลิเคชั่น Siriraj Connect ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล Rama App ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี Chula Care ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หรือ แอปพลิเคชั่น QueQ เป็นต้น ทั้งนี้ยังมาการนำองค์ความรู้ในการออกแบบเรขศิลป์มาปรับใช้กับสื่อเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย
แต่การใช้สื่อเรขศิลป์ระบบป้ายบอกทางสำหรับการบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลนั้น ยังไม่มี การให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาการใช้และการให้บริการทางการแพทย์ เมื่อผู้ใช้บริการมาที่สถานบริการได้จริง (SEGD, 2014) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ (Baby Boomer) และกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึง เข้าใจ และมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (MDES, 2562) การนำระบบเรขศิลป์ป้ายบอกทางในสิ่งแวดล้อมมาใช้ เพื่อสนับสนุนการใช้งานสื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยเคลื่อนย้ายผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็ว และลดความแออัดของการใช้บริการลงได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาบุคลาการและเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลมากเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ นอกจากนั้นระบบเรขศิลป์ป้ายบอกทางในสิ่งแวดล้อม ยังสามารถนำมาใช้เพื่อช่วยสนับสนุนการใช้งานสื่อเรขศิลป์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในแนวทาง “smart hospital” ในสถานพยาบาลได้ดีและทำให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันระบบเรขศิลป์ป้ายบอกทาง ยังสามารถช่วยสื่อสารความรู้สึกเชิงบวก เรื่องราว และ อัตลักษณ์ขององค์กรของสถานพยาบาลเหล่านั้นได้อีกด้วย (SEGD, 2014)
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ มีขึ้นเพื่อหาแนวทางในการออกแบบเรขศิลป์ระบบป้ายบอกทางในสิ่งแวดล้อม สำหรับการบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐสังกัดมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ โดยมีวิธีการดำเนินการวิจัย จากการศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง การลงพื้นที่เพื่อสังเกตและเก็บข้อมูล การเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ ในโรงพยาบาลรัฐสังกัดมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ (กรณีศึกษาโรงพยา บาลศิริราช) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และประเมินสถาณการณ์ การใช้สื่อเรขศิลป์สำหรับการบริการทางการ แพทย์ใน โรงพยาบาลในปัจจุบัน เพื่อหาภาระของการใช้สื่อเรขศิลป์ชนิดต่าง ๆ ความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้งาน โดยเน้นวิเคราะห์การใช้งานของสื่อเรขศิลป์ระบบป้ายบอกทางเป็นหลัก การศึกษา คัดเลือก และวิเคราะห์ ตัวอย่างงานเรขศิลป์ระบบป้ายบอกทางสำหรับการบริการทางการแพทย์ที่ดีและมีคุณภาพ รวมถึงการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การออกแบบงานต้นแบบและการประเมินผลงาน ถูกนำมาใช้เพื่อหาแนวทางในการออกแบบสื่อเรขศิลป์ระบบป้ายบอกทางสำหรับการบริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ผลของการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า แนวทางการออกแบบสื่อเรขศิลป์ระบบป้ายบอกทางสำหรับการบริการทางการแพทย์ ในโรงพยา บาลรัฐสังกัดมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่ดี ที่ผู้ออกแบบควรคำนึงถึง ประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ในสามเรื่อง คือ 1) รูปแบบและการใช้งานของระบบป้าย 2) องค์ประกอบศิลป์ในการออกแบบ และ 3) การใช้สื่อมัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์สื่อโต้ตอบ โดยผสมผสานคุณสมบัติพิเศษเฉพาะ (unique point) ในงานออกแบบที่ดีผ่านกระบวนการในการออกแบบ 6 ข้อ สำหรับนำมาใช้ในการออกแบบ ดังนี้ 1) การหาและการนำอัตลักษณ์เรื่องราวของโรงพยาบาล (แบรนด์) มาใช้ 2) การให้ ความสำคัญกับความเกี่ยวข้องของโรงพยาบาลกับชุมชนรอบข้าง 3) การออกแบบเพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึก ในเชิงบวกให้ผู้มาใช้บริการ 4) การออกแบบโดยคำนึงถึงความยืดหยุ่นและยั่งยืน 5) การออกแบบโดยเน้นการตอบสนองผู้มาใช้บริการเป็นหลัก และ 6) การใช้เทคโนโลยีสื่อปฏิสัมพันธ์โต้ตอบในงานออกแบบ ซึ่งแนวทางในการออกแบบนี้ จะนำไปสู่กระบวน การในการออกแบบเรขศิลป์ระบบป้ายบอกทางสำหรับการบริการทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลรัฐสังกัดมหาวิทยาลัยที่ดีต่อไป