Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาแนวคิด วิธีการ และมูลบทที่เกี่ยวข้องกับวงปี่พาทย์นางหงส์ โครงสร้างบทเพลงและการเรียบเรียงบทเพลงประเภทเพลงนางหงส์ โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยมีวิธีดำเนินการวิจัยจากการศึกษารวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ครูผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญทางด้านดุริยางคศิลป์ไทย โดยทำการศึกษาข้อมูลหลักในกรณีศึกษาของครูภัทระ คมขำ
ผลการวิจัย พบว่า ครูภัทระ คมขำมีแนวคิดที่เป็นลักษณะเฉพาะในการเรียบเรียงบทเพลงนางหงส์ เพื่อส่งเสริมกระบวนการการเรียนรู้ในระบบการศึกษาทางด้านดุริยางคศิลป์ไทย โดยมุ่งเน้นหลักวิชาการและการฝึกปฏิบัติเป็นสำคัญ อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์บทเพลงต่าง ๆ รวมถึงการใช้นัยยะการเรียนรู้ของโบราณาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ไทย
การวิเคราะห์โครงสร้างและวิธีการเรียบเรียงบทเพลงนางหงส์ของครูภัทระ คมขำ มีจำนวน 10 เพลง ได้แก่ เพลงอนงค์สุชาดา เพลงมุล่ง เพลงแขกไทร เพลงเทพบรรทม เพลงกัลยาเยี่ยมห้อง เพลงสาลิกาชมเดือน เพลงวิเวกเวหา เพลงอาถรรพ์ เพลงการเวกใหญ่ และเพลงน้ำค้าง พบว่ามีกระบวนการในการเรียบเรียงเพลงนางหงส์แสดงถึงความสามารถในการสร้างสรรค์รูปแบบของโครงสร้างเพลงนางหงส์ จำนวน 8 รูปแบบ และในส่วนของวิธีการเรียบเรียงเพลงนางหงส์มีการเลือกใช้บทเพลงที่มีความสัมพันธ์ชององค์ประกอบสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ การใช้กลุ่มเสียงปัญจมูล ความเชื่อมโยงของเสียงลูกตก สำนวนเพลง สำเนียงภาษาของเพลงและนัยยะความหมายของบทเพลงที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนเป็นไปตามระเบียบแบบแผนทางหลักทฤษฎี
ดุริยางคศิลป์ไทย