Abstract:
วงสะล้อ ซอ ปิน ของแม่ครูลำดวน สุวรรณภูคำ คณะช่อแก้ว จังหวัดแพร่ ใช้ระเบียบการวิจัยเชิงคุณภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติชีวิต วิธีการบรรเลงวงสะล้อ ซอ ปิน ทำนองซอ และทำนองดนตรีของแม่ครูลำดวน สุวรรณภูคำ โดยเก็บข้อมูลภาคสนามระหว่างปี พ.ศ. 2562-2563
ประวัติชีวิตแม่ครูลำดวน สุวรรณภูคำ ท่านเป็นศิลปินพื้นบ้านล้านนาด้านการขับซอล่องน่าน และเป็นหัวหน้าคณะช่อแก้ว แม่ครูสั่งสมประสบการณ์ด้านการขับซอและการฟ้อนแง้นมาร่วม 50 ปี มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมในจังหวัดแพร่และจังหวัดใกล้เคียง ศึกษาเพลงพื้นบ้านจากพ่อครูเมืองดี เทพประสิทธิ์ โดยเริ่มจากการยกขันตั้งขอเป็นศิษย์ การเข้าพิธีกินอ้อเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ ศึกษาหลักในการบรรเลงในแต่ละสถานการณ์ พิธีกรรม และพิธีการที่จะต้องปฏิบัติทุกครั้งในเวลาไปออกงานแสดงอย่างเคร่งครัด
วิธีการบรรเลงของปิน มีการบรรเลงคู่ 2 และคู่ 4 เป็นส่วนมาก โดยปินมีการใช้กลวิธีพิเศษคือกลวิธีการสะบัด สะล้อพบว่ามีการใช้คู่เสียงทุกคู่เสียงในเพลงรูปแบบดำเนินทำนองและมีการใช้กลวิธีพิเศษได้แก่ การพรมนิ้ว การขยี้ และการสะบัด การบรรจุคำเพลงในแบบของแม่ครูลำดวน สุวรรณภูคำ โดยส่วนมากมักจะบรรจุ 2 คำ ต่อ 1 ห้อง เว้นแต่สถานการณ์ในการด้นสดที่จำเป็นจะต้องใช้คำหลายคำก็จะเป็นกรณีพิเศษ การเน้นคำจะเน้นตามสำเนียงภาษาของภาคเหนือ ตัวที่เน้นมักจะอยู่ในจังหวะที่ตรงกับลูกตกของแต่ละห้อง ในบางจุดที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษจะใส่กลวิธีพิเศษการซ้อนเสียงเข้าไป การใช้กลวิธีพิเศษของการขับซอนิยมใช้การเอื้อนมีใน 2 กรณี คือ ใช้ในคำที่มีการใช้วรรณยุกต์ไม้ตรีและไม้จัตวาและใช้เพื่อเชื่อมคำระหว่างห้อง นอกจากนี้มักจะใช้ในเพลงรูปแบบดำเนินทำนองมากกว่าเพลงบังคับทาง ทำนองดนตรีพบว่าใช้กลุ่มเสียงปัญจมูลของเพลงดาดน่าน เพลงลับแลง เพลงพม่าต๊ะโต๋งเต๋ง เพลงดาดแพร่ และเพลงจะปุเชียงกลาง มีจำนวน 3 กลุ่มเสียงได้แก่ กลุ่มเสียงทางเพียงออบน ชวา และกลางแหบ