Abstract:
ดุษฎีนิพนธ์วิจัยสร้างสรรค์ทางดุริยางคศิลป์: เพลงการเดินทางของเฉกอะหมัดสู่กรุงศรีอยุธยา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับการเดินทางของเฉกอะหมัดอันเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์บทเพลงการเดินทางของเฉกอะหมัดสู่กรุงศรีอยุธยาโดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิและการค้นคว้าทางเอกสาร ผลการวิจัยพบว่าแนวคิดสำคัญ 4 ประการซึ่งเป็นสาระสำคัญและสร้างแรงบันดาลใจในการประพันธ์บทเพลง ประกอบไปด้วยแนวคิดด้านภูมิลำเนาถิ่นกำเนิดของเฉกอะหมัด แนวคิดด้านเส้นทางการเดินทางของเฉกอะหมัดสู่กรุงศรีอยุธยา แนวคิดด้านวัฒนธรรมดนตรีเปอร์เซีย และแนวคิดด้านวัฒนธรรมดนตรีอินเดียในการสร้างสรรค์บทเพลง เส้นทางการเดินทางของเฉกอะหมัดเริ่มจากเมืองกูน แคว้นแอสตะระบัด อาณาจักรเปอร์เซียสู่กรุงศรีอยุธยาในช่วงปลายของสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แนวคิดการสร้างสรรค์ทางดุริยางคศิลป์: เพลงการเดินทางของเฉกอะหมัดสู่กรุงศรีอยุธยาประกอบด้วยทำนองเชื่อมสำเนียงเปอร์เซีย 4 ทำนอง และบทเพลงหลัก 5 บทเพลง ได้แก่ เพลงปฐมคุณา แสดงจินตภาพในการเดินทางจากเมืองกูนไปยังเมืองละฮอร์ เพลงภารตะอุดร แสดงการเดินทางเข้าสู่เมืองเดลี เพลงสัญจรทักษิณ แสดงการเดินทางจากเมืองไฮดาราบัดสู่เมืองมะสุลิปะตัม เพลงชลาสินธุ์พรรณนา แสดงจินตภาพการเดินทางในทะเลอันดามันจากฝั่งมะสุลิปะตัมไปยังสยาม และเพลงปัจฉิมวารกายี แสดงจินตภาพการเดินทางถึงกรุงศรีอยุธยาโดยสวัสดิภาพ โดยตีความนัยของคำว่า กายี ออกเป็น 2 ความหมาย คือ กายี ที่หมายถึง ตำบลท่ากายี ในกรุงศรีอยุธยา อันเป็นจุดหมายที่เฉกอะหมัดเดินทางมาถึง ส่วนอีกนัยหนึ่ง กายี ในที่นี้คือ กายา หรือ กาย อันหมายถึงเรือนร่างของเฉกอะหมัด เป็นการแฝงความหมายทางนามธรรมเปรียบได้ว่า บัดนี้ร่างกายของเฉกอะหมัดได้สูญสลายไปตามกาลเวลาแต่คุณงามความดีของเฉกอะหมัดยังคงอยู่ แม้กายสูญสลายแต่นามปรากฏชั่วนิรันดร์